นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายวันนี้ หอการค้าไทยจะเข้าพบผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนำเสนอแนวทางเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ด้วย Digital Transformation เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เข้าถึงแหล่งเงินทุน ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเป็น 1 ในภารกิจ 99 วันแรก ของหอการค้าไทย ที่จะเร่งฟื้นเศรษฐกิจไทยจากสภาวะวิกฤตโควิด-19
นายสนั่น กล่าวว่า หอการค้าไทยทราบว่า บ่ายวันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เตรียมที่จะนำเรื่อง Digital Transformation มาปรับปรุงระบบการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเช่นกัน ซึ่งทางหอการค้าไทยจะนำต้นแบบ SANDBOX นี้ ที่มีผลลัพธ์ซึ่งวัดผลเป็นรูปธรรมได้ เข้าเสนอหารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ SMEs ในเครือข่ายของหอการค้าไทย โดยจะนำ Technology เข้ามาช่วยทำงานให้กระบวนการอนุมัติและกระบวนการตรวจสอบเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส รวมทั้ง การทำงานร่วมกับธนาคารในการจัดทำฐานข้อมูล นำมาวิเคราะห์เพื่อลดความเสี่ยง ป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล และการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน ทำให้ธนาคารมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อให้ SMEs โดยเฉพาะสมาชิกของสมาคมต่าง ๆ เช่น สมาคมค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะรายเล็ก ประสบปัญหาสภาพคล่องเป็นอย่างมาก และบางรายต้องพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ เพราะไม่สามารถเข้าถึง Soft Loan ของภาครัฐได้ ทั้งที่ผู้ประกอบการหลายรายยังมีศักยภาพ และมีความสามารถที่จะอยู่รอดและเติบโตได้
นายสนั่น กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤตินี้ หอการค้าไทยได้เห็นความพยายามของผู้ประกอบการ และต้องการช่วยให้ธุรกิจ SMEs ได้อยู่รอด ลดต้นทุน มีทางเลือกในการค้ำประกันด้วยเครื่องมือทางการเงินประเภทอื่น ๆ และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ที่สำคัญคือมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่อง และช่องทางการค้าขายให้กับ SMEs โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่จะนำเอาระบบ Technology มาทำหน้าที่ช่วยคัดกรองและให้ข้อมูลลูกค้า SMEs ที่เป็นผู้เช่าพื้นที่ รวมถึงเป็นซัพพลายเออร์กับธนาคารพาณิชย์ โดยให้ SMEs ใช้ใบคำสั่งซื้อ หรือใบส่งของที่มีกับธุรกิจค้าปลีกนั้นมาเป็นหลักค้ำประกัน เพื่อช่วยให้การพิจารณาเครดิตเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเพิ่มการเข้าถึงสภาพคล่องให้กับ SMEs เหล่านั้น ที่มีหลายแสนรายทั่วประเทศ
ทั้งนี้ บริษัทเซ็นทรัลฟู้ดรีเทล ได้ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย จัดทำโครงการต้นแบบ SAND BOX นำร่องในเฟสแรก เพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ที่มียอดวงเงินกู้ต่ำกว่า 5 ล้านบาท โดยล่าสุดได้นำเสนอรายชื่อ และข้อมูลที่ได้รับการคัดเลือกจากประวัติที่น่าเชื่อถือ ที่มีการทำการค้ากับทางบริษัทฯ มาเป็นระยะเวลาพอสมควร ให้ธนาคารอนุมัติกว่า 6,000 ราย เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs จำนวนกว่า 1,000 ราย ได้รับอนุมัติสินเชื่อเป็นกลุ่มแรก ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 และกว่า 70% ของทั้ง 6,000 รายนี้ ยังไม่เคยเข้าถึง Soft Loan มาก่อน
นอกจาก Central Retail ที่มาเริ่มทำต้นแบบแล้ว หอการค้าไทยได้เตรียมหารือ CEO ของแต่ละบริษัทค้าปลีก มาร่วมขยายผลเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ตามแนวทางนี้ร่วมกัน ทั้ง The Mall Group, Robinson, Tops, 7-11, Makro, Lotus, Big C, CJ express, ตั้งงี่สุน และอีกหลายราย ที่อยู่ระหว่างเจรจาเชิญเข้ามาร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กต่อไป
“คาดว่าจะกระจายต้นแบบการขอสินเชื่อ Soft Loan ไปยัง SMEs มากกว่า 100,000 รายทั่วประเทศ ภายในเดือนธันวาคม 2564 เพื่อเสริมสภาพคล่องและเป็นแต้มต่อในการทำธุรกิจ โดยหอการค้าไทย พร้อมที่จะ Connect the Dots ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วย SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยร่วมกัน” นายสนั่นระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 64)
Tags: sandbox, SMEs, Soft Loan, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., สนั่น อังอุบลกุล, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, สินเชื่อ, หอการค้าไทย, เซ็นทรัลฟู้ดรีเทล, เอสเอ็มอี