น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สศค.ได้ประเมินในเบื้องต้นว่ามาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ วงเงินรวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบในหลักการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น หากสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2564 มากกว่า 4 แสนล้านบาท และจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1%
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะมีการปรับประมาณการ GDP ปีนี้อีกครั้งในเดือน ก.ค.64 จากปัจจุบันคาดการณ์อยู่ที่ 2.3% ซึ่งหากรวมกับปัจจัยเสริมในเรื่องมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ก็มีโอกาสที่ GDP ปีนี้จะขยับเพิ่มขึ้นใกล้ระดับ 2.8% ได้
“มาตรการเยียวยาที่ออกมาครั้งนี้ มีส่วนช่วย GDP ได้มากกว่า 1% เมื่อเทียบกับไม่มีการดำเนินโครงการเหล่านี้เลย แต่คงจะเอาไปบวกกับคาดการณ์ปัจจุบันที่ 2.3% เลยไม่ได้ เพราะคาดการณ์ดังกล่าว มีการพิจารณาบางโครงการรวมไปแล้ว แต่ยอมรับว่ามีโอกาสสูงที่จีดีพีจะขยับใกล้ระดับ 2.8% ซึ่งเป็นกรอบที่กระทรวงการคลังได้วางไว้ แต่ทั้งหมดนี้ ต้องอยู่ภายใต้สมมติฐานปัจจุบันด้วย เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ค่าเงินบาท และปัจจัยอื่นๆ”
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว
น.ส.กุลยา กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด-19 มีมติเห็นชอบกำหนดเวลาการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ใช้สิทธิมาตรการเราชนะ และ ม33 เรารักกัน อีกคนละ 2,000 บาท โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในวันที่ 11 พ.ค.64
ทั้งนี้ สำหรับมาตรการเราชนะ จะโอนเงินให้ผู้ได้สิทธิ สำหรับกลุ่มที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรประชาชน รอบแรก 1,000 บาท ในวันที่ 21 พ.ค.64 และอีก 1,000 บาท ในวันที่ 28 พ.ค.64 ส่วนกลุ่มที่ใช้สิทธิผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง จะได้รับเงินงวดแรกวันที่ 20 พ.ค.64 และงวดสองวันที่ 27 พ.ค.64
มาตรการ ม33 เรารักกัน จะโอนเงินงวดแรกในวันที่ 24 พ.ค.64 และงวดสองวันที่ 31 พ.ค.64 โดยมาตรการครอบคลุมในส่วนเราชนะ 33.5 ล้านคน และมาตรการ ม33 เรารักกัน 9.27 ล้านคน โดยที่ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ซึ่งระบบจะโอนเงินเข้าอัตโนมัติ เพื่อใช้จ่ายได้ถึง 30 มิ.ย.64
ส่วนมาตรการใหม่สำหรับกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อและมีรายได้ค่อนข้างสูง คือ โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ซึ่งรัฐจะสนับสนุน e-Voucher ค่าซื้อสินค้า ค่าอาหาร-เครื่องดื่ม และบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไม่เกิน 5 พันบาทต่อคนต่อวัน สะสมสูงสุดไม่เกิน 7 พันบาทต่อคน โดยการใช้จ่ายจะได้รับ e-Voucher ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 2564 และใช้จ่าย e-Voucher ได้ในเดือน ส.ค. – ธ.ค. 2564 ซึ่งการใช้จ่ายจะดำเนินการผ่าน G-Wallet ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยมาตรการนี้ครอบคลุม 4 ล้านคน เบื้องต้นมีการประเมินว่าหากประชาชนมีการใช้จ่ายเต็มที่ 6 หมื่นบาทต่อคน เพื่อรับ e-Voucher คืนที่ 7 พันบาทต่อคน จะช่วยทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท
น.ส.กุลยา กล่าวเพิ่มเติมว่า วงเงินที่ใช้ในการดำเนินมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ยังมาจาก พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งยังมีเพียงพอ พร้อมทั้งยืนยันว่าสถานการณ์ด้านการคลังในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 53% ต่อจีดีพี ถือว่ายังมีช่องว่างในการกู้เงินเพิ่มเติมได้ แต่ไม่อยากให้มองว่าแม้จะมีช่องว่างรัฐบาลก็จะดำเนินการกู้เงินทั้งหมด เพราะทุกอย่างต้องประเมินตามสถานการณ์และความจำเป็น
“ความยั่งยืนทางการคลัง ในเรื่องเงินคงคลัง ฐานะการคลัง หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง รวมทั้งบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่าง ๆ ก็ยังคงเครดิตเรตติ้งประเทศไทยไว้ และมีมุมมองที่ดีขึ้น ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการจัดอันดับ ก็มาจากเรื่องความยั่งยืนทางการคลังและสถาบันการเงินที่เข็มแข็ง ทำให้มั่นใจได้ว่าสถานการณ์ด้านการคลังยังแข็งแกร่ง”
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ค. 64)
Tags: GDP, กระทรวงการคลัง, กุลยา ตันติเตมิท, มาตรการเยียวยา, สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เศรษฐกิจไทย