สัมภาษณ์พิเศษ: ตีมูลค่า WINMED หุ้นเมกะเทรนด์แห่งอนาคตสายการแพทย์เทคโนโลยีขั้นสูง

แม้ว่าช่วงนี้ความไม่แน่นอนของตลาดหุ้นไทยจะสร้างความกังวลใจให้กับผู้ลงทุน แต่อีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุนที่กำลังได้รับความสนใจกันอย่างมากนั้น คือการลงทุนกับหุ้นน้องใหม่ หรือ หุ้น IPO ที่ทยอยกันเข้าตลาดอย่างต่อเนื่องจนถึงต้นเดือน พ.ค.นี้ และหนึ่งในหุ้น IPO เมกะเทรนด์ที่เข้าตาผู้ลงทุน คือ บมจ.วินเนอร์ยี่ เมดิคอล (WINMED) ธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงด้านการแพทย์สมัยใหม่ ประกาศเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 120 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 3.10 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิเท่ากับ 24.04 เท่า พร้อมเดินหน้าเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในวันที่ 11 พ.ค.นี้เป็นวันแรก

ความหลงไหลนวัตกรรมสู่ผู้นำเข้าเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง

นายนันทิยะ ดารกานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WINMED เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 27 ปีก่อนเดินทางเรียนต่อปริญญาโทสาย MBA ประเทศสหรัฐอเมริกาจนได้พบกับงานวิจัยฯ 10 ธุรกิจดาวรุ่งของไทย หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมทางการแพทย์ เป็นการจุดประกายความคิด ผสมผสานกับความชอบส่วนตัวหลงไหลในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจนำเข้าสินค้านวัตกรรมเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์การแพทย์ทั้งหมด ซึ่งจัดว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีศักยภาพสูงและแทบจะไม่มีคู่แข่งขันในอุตสาหกรรม

โครงสร้างรายได้ของบริษัท ปัจจุบันแบ่งเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้รวม เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เฉพาะทางที่ต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในผลิตภัณฑ์ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบรนด์ ThinPrep เป็นอันดับ 1 ในประเทศ ส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 75%

ธุรกิจต่อมา สัดส่วน 30% ของรายได้รวม มาจากส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 1 ใน 3 ของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการเก็บรักษาโลหิต และสัดส่วนอีก 30% เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าจากผู้ผลิตชั้นนำในต่างประเทศเพื่อตรวจและฆ่าเชื้อในโลหิตเพื่อการวิเคราะห์ วินิจฉัยและบำบัดรักษาโรค

และสัดส่วน 5% เป็นตัวแทนของบริษัทผู้ให้บริการตรวจวินิจฉัยด้านพันธุศาสตร์จากต่างประเทศ สำหรับการให้บริการตรวจสารพันธุกรรมและความผิดปกติของทารกในครรภ์ โดยบริษัทได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตชั้นนำ 23 บริษัท ใน 12 ประเทศ อาทิ บริษัท Miltenyi Biotec ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับใช้ในการคัดแยก Stem Cell เพื่อใช้ประกอบการรักษาโรคมะเร็ง

ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคผ่านบริษัทย่อยประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่เกี่ยวกับสุขภาพและสุขอนามัย อาทิ เครื่องดักจับยุงและแมลงดูดเลือด และชุดกำจัดสารเคมีและชีวภาพหกปนเปื้อน เป็นต้น

“ผลิตภัณฑ์ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แม้ว่ามีคู่แข่งในไทยอยู่ 6 ราย แต่บริษัทครองตลาดอันดับหนึ่งสูงกว่า 75% แบรนด์ที่บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายคือ ThinPrep เป็นแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือและครองตลาดไปแล้ว สะท้อนจากสุภาพสตรีคนไทยที่ตรวจมะเร็งปากมดลูก3 คนใน 4 คนต้องใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา

ส่วนธนาคารโลหิต เราก็เป็นหนึ่งใน 3 รายเป็นให้บริการ ผลิตภัณฑ์การตรวจเชื้อและฆ่าเชื้อในโลหิตด้วยนวัตกรรมที่บริษัทเป็นตัวแทนนำเข้าผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ดังกล่าวเป็นรายเดียวในโลกที่ผ่านการรับรองจาก อย.ในสหรัฐฯและในไทย โดยประเด็นความเสี่ยงการยกเลิกสัญญาการเป็นตัวแทนของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากมาก เนื่องจากบริษัทมีความสัมพันธ์อันดีและเป็นคู่ค้ากันมายาวนานมากกว่า 20 ปีแล้ว”

นายนันทิยะ กล่าว

ชูความโดดเด่นรายได้ประจำสะท้อนความมั่นคงระยะยาว

นายนันทิยะ กล่าวอีกว่า ความโดดเด่นของธุรกิจบริษัท คือ ความมั่นคงระยะยาวและมีศักยภาพทำกำไรที่ดี เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมการแพทย์ และตอบโจทย์ของปัญหา ทำให้รายได้ส่วนใหญ่สัดส่วนเกือบ 90% เป็นรายได้ประจำ

ยกตัวอย่าง ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูก บริษัทได้ติดตั้งเครื่องกับโรงพยาบาล, ศูนย์แล็บต่างๆ ที่เป็นลูกค้า โดยมีผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจำหน่ายหลักๆ คือ น้ำยาและอุปกรณ์เก็บตัวอย่าง

ส่วนเกี่ยวข้องกับโลหิตบริษัทนำเครื่องไปติดตั้งให้กับธนาคารเลือดแต่ละแห่ง ทั้งสภากาชาดไทย และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายอุปกรณ์การใช้ที่เกี่ยวเนื่องกัน ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นช่วงที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 45-50%

โมเดลธุรกิจหลักของ WINMED คือ การลงทุนเครื่องติดตั้งเพื่อให้ลูกค้าใช้ต่อเนื่องเรื่อยๆ และเมื่อรายได้ขยายตัว ก็จะเกิด Economy Of Scale หลังจากที่บริษัทได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารจัดการภายในองค์กรเรียบร้อยแล้ว อาทิ ด้านอุปกรณ์และพัฒนาความสามารถของทีมงานทุกภาคส่วน ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกจำกัด ดังนั้นเมื่อรายได้ขยายตัวได้ดีขึ้นจะช่วยสร้างโอกาสทำกำไรได้ค่อนข้างสูง

และภายหลังจากการระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ก็จะนำมาพัฒนาโครงการมีโอกาสพัฒนาความสามารถของอัตรากำไรสุทธิได้ในอนาคตจากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 10%

“ต้องยอมรับว่ายุคสมัยที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดกระแสดิสรัปชั่นในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่ด้วยการปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอดเวลา และคู่ค้าของบริษัทก็เป็นองค์กรชั้นนำมีการวิจัยด้านวัตกรรมตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้น มรสุมคลื่นดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นสิ่งที่บริษัทสามารถคาดการณ์ได้ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และสามารถบริหารจัดการเพื่อมาทดแทนการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต” นายนันทิยะ กล่าว

เข้าตลาดหุ้นมุ่งหน้าสู่เป้าหมายธุรกิจการแพทย์แห่งอนาคต

นายนันทิยะ กล่าวต่อว่า ความตั้งใจที่ต้องการนำพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯช่วงนี้บริษัทมองเห็นโอกาสการเติบโตระยะถัดไปเป็นการมุ่งสู่การพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แห่งอนาคต การระดมทุนจะนำเงินไปใช้ใน 2 โครงการหลัก ได้แก่

โครงการลงทุนก่อสร้างห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ผ่านชุดเก็บเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูก จากช่องคลอดด้วยตนเอง (Self Collect) คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ภายในปีนี้ ถัดมาเป็นโครงการลงทุนก่อสร้างห้องปฏิบัติการที่ครอบคลุมด้านการเตรียมผลิตภัณฑ์เซลล์เพื่อการรักษาด้วยวิธีเซลล์บำบัด (Cell Therapy) คาดว่าจะรับรู้รายได้ไตรมาส 1/65 ส่วนที่เหลือจะนำไปชำระคืนเงินกู้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

“ปัจจุบันสุภาพสตรีในประเทศไทยจำเป็นอย่างมากต้องตรวจมะเร็งปากมดลูกจำนวน 21 ล้านคนต่อปี แต่ความเป็นจริงพบว่าจำนวน 13-14 ล้านคนกลับไม่ได้ตรวจ นำมาสู่การเสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งอันดับ 2 ของไทย หรือคิดเป็นอัตราส่วนการเสียชีวิตถึง 14 คนต่อวัน จึงมองเห็นถึงโอกาสการเติบโตที่น่าสนใจอย่างมาก และคาดหวังว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ที่เป็นมะเร็งปากมดลูกจะลดน้อยลงในไทย”

นายนันทิยะ กล่าว

และอีกโครงการคือก่อสร้างห้องปฏิบัติการที่ครอบคลุมด้านการเตรียมผลิตภัณฑ์เซลล์เพื่อการรักษาด้วยวิธีเซลล์บำบัด นับเป็นหนึ่งทางเลือกนอกเหนือจากการใช้วิธียาเคมีบำบัด หรือคีโม เพื่อใช้บำบัดเซลล์มะเร็ง ซึ่งปัจจุบันแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีผลการรักษาเป็นที่ประจักษ์จากการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 หายได้ด้วยการนำภูมิคุ้มกันจากร่างกายผู้ป่วยมาสอนให้กำจัดเซลล์มะเร็งก่อนจะฉีดกลับเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย (Immunotherapy)

บริษัทมีแผนจะสร้างห้องแล็บกลางเพื่อให้บริการกับโรงพยาบาลและสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์ทุกแห่งที่ต้องการให้บริการบำบัดด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่ต่างกับการบำบัดด้วยยาเคมีบำบัด และในอนาคตคาดว่ายังจะสามารถต่อยอดรักษาเซลล์บำบัดในลักษณะอื่น คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 1/65

นักวิเคราะห์ฯ มองแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามดีมานด์ด้านสาธารณสุข

บทวิเคราะห์จากนักเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกกับหุ้น WINMED ระยะยาว โดย บล.โนมูระพัฒนะสิน คาดว่ากำไรสุทธิของ WINMED จะเติบโตเฉลี่ย 19% และรายได้รวมเติบโตเฉลี่ย 13% ช่วง 3 ปีข้างหน้า (64-65) เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยของโลหิต และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสตรีเติบโตตามนโยบายสนับสนุนของภาครัฐที่เพิ่มจังหวัดเข้าร่วมการคัดกรองโดยใช้ HPV DNA test เป็น 41 จังหวัดและเริ่มจำหน่ายชุดเก็บเซลล์ด้วยตนเองเพื่อส่งตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จับกลุ่มลูกค้าที่ไม่กล้าไปพบแพทย์จะช่วยให้รายได้ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสตรีกลับมาเติบโต

นอกจากนี้ ปัจจุบันโลหิตที่ได้รับบริจาคในไทยได้รับการตรวจคัดกรองเพียงเชื้อ HIV, HBV, HCV และซิฟิลิส ประกอบกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้มีความกังวลเชื้อที่ปนเปื้อนในโลหิตเพิ่มสูงขึ้น มองว่าการที่ WINMED ได้รับสิทธิจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยโลหิตผ่านวิธี Pathogen Inactivation ของบริษัท Cerus รายเดียวในไทย ทำให้คาดรายได้จากผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง

ส่วนผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีเซลล์บำบัดเติบโตสูง หลังห้องปฎิบัติการเริ่มเปิดใช้ช่วงต้นปี 65 คาดมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 47% สูงขึ้นจาก 46.8% ในปี63 จากการเติบโตของกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จิ้นสูง และคาด SG&A to sales ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 32% ในปี65 จาก economy of scale

ขณะที่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดว่า กำไรของ WINMED ในช่วงปี 64-66 จะเติบโตเฉลี่ย 67.9% CAGR ตาม Mega Trend ของอุตสาหกรรมและการเพิ่มสินค้านวัตกรรมใหม่ เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีเซลล์บำบัด (Cell Therapy) ทั้งเครื่องคัดแยก Stem cell (ใช้ในการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือรักษาโรคมะเร็ง) และอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับเครื่อง, Perifit (เครื่องบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน), HPV Self-collect (ชุดเก็บเซลล์จากช่องคลอดด้วยตนเองเพื่อส่งตรวจหาเชื้อไวรัส HPV) เป็นต้น ซึ่งเป็นการขยายฐานลูกค้าสู่ B2C สินค้าใหม่ที่จะเริ่มทำตลาดในปีนี้ คาดทำให้รายได้โตสูงเฉลี่ย 34.0% CAGR สูงกว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่โตเฉลี่ย 1.6%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top