นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อจากหลายองค์กรได้พิจารณาสถานการณ์ที่ผ่านมา โดยจะมีการให้ยาฟาร์วิพิราเวียร์เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เร็วขึ้นกว่าเดิม เริ่มตั้งแต่เป็นผู้ติดเชื้อยืนยันที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการร่วม แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วน ที่ระยะนี้มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือการให้ยาสเตอรอยด์กับผู้ติดเชื้อยืนยันที่มีอาการเล็กน้อยและมีความเสี่ยง มีอาการปอดอักเสบเล็กน้อย จะลดความรุนแรงถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจได้
“เกณฑ์การให้ยาฟาร์วิพิราเวียร์เร็วขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนแบบเหวี่ยงแห เพราะยาฟาร์ริพิราเวียร์มีผลข้างเคียง มีผลต่อตับอักเสบ และเชื้อดื้อยา ซึ่งมีผู้ป่วยยืนยันที่ไม่มีความจำเป็นต้องกินยานี้ถึง 80% เป็นการให้ยาโดยเปล่าประโยชน์” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ขณะนี้มีการสำรองยาฟาร์วิพิราเวียร์ไว้จำนวน 1,465,471 เม็ด โดยกระจายไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งในแต่ละวันจะมีการใช้งานเฉลี่ย 5 หมื่นเม็ด ขณะที่มีการสั่งซื้อยาเข้ามาเพิ่มเติมในช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้อีก 3 ล้านเม็ด และมียาเรมดิซีเวิยร์สำรองอยู่อีก 3,918 vials
ส่วนกรณีให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการแล้วอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง หลังพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว 10 วันให้กลับไปกักตัวต่อที่บ้านอีก 4 วัน ซึ่งเป็นการบริหารเตียงในบางจังหวัดที่มีปัญหาเตียงไม่เพียงพอ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ค. 64)
Tags: COVID-19, กรมการแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข, ผลข้างเคียง, ฟาวิพิราเวียร์, ยาสเตอรอยด์, สธ., สมศักดิ์ อรรฆศิลป์, เรมเดซิเวียร์, โควิด-19