ตลท.เล็งออกดัชนีใหม่แทนปรับดัชนีเดิมแก้ฟรีโฟลตต่ำหลังหลายฝ่ายค้าน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.ตัดสินใจชะลอการปรับการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯออกไป โดยยังคงใช้วิธีการคำนวณแบบเดิม คือ ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวนดัชนี ซึ่งจากการสำรวจความคิดมองผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่มองว่าการแก้ปัญหาผลกระทบจากหุ้นฟรีโฟลตต่ำด้วยการปรับน้ำหนักของหุ้นในดัชนีเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ โดยปัจจุบันดัชนีที่ ตลท.ใช้อยู่ไม่ได้มีความแตกต่างกับดัชนีอื่นๆ ในโลก

โดยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มองว่าควรจะเป็นการเตือนนักลงทุนตั้งแต่แรก หากราคาหุ้นปรับขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผลรองรับ ก็จะต้องมีการเตือนนักลงทุน และให้ข้อมูลแก่นักลงทุน พร้อมทั้งให้บริษัทจดทะเบียนออกมารายงานความเคลื่อนไหวต่างๆ มีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีการพัฒนามาตรการต่างๆ ออกมากขึ้นเพื่อที่จะดูแลไม่ให้มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติในกรณีที่ไม่มีเหตุผลรองรับ

ขณะที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อที่จะออกดัชนีรูปแบบใหม่ที่ตรงกับความต้องการของนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะมีความต้องการลงทุนในดัชนีที่เป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยในการคำนวนดัชนี (FreeFloat Adjusted Market Capitalization) ซึ่งสามารถออกได้ทันที ขึ้นอยู่กับความต้องการของผลิตภัณฑ์

“การปรับน้ำหนักในดัชนีสิ่งที่เรามองตอนนี้ คือ ดัชนีที่เรามีตอนนี้ไม่ได้มีหลักการอะไรเลยที่แตกต่างจากดัชนีที่มีอยู่ทั่วไปในโลก สิ่งที่เรากลัวในอดีตคือหากมีหุ้นบางตัวมีการเคลื่อนไหวมากเกินไปเราจะไปแก้ที่ต้นแหตุ แต่มองที่ปลายเหตุเรามองว่าหากไปมีการแก้ไขดัชนีที่มีคนใช้อยู่เยอะมันจะไปกระทบต่อผู้ใช้ดัชนีในวงกว้าง เราจึงมามองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ตรงความต้องการของนักลงทุนแทน”

นายภากร กล่าว

นายภากร กล่าวอีกว่า ขณะนี้ภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีความผันผวนมาก หลังจากธนาคารหลางหลายประเทศออกมาให้ข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินและนโยบายทางการคลังต่างๆ รวมไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทิศทางการไหลเข้าและไหลออกของเงินทุนต่างชาติมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง แต่ช่วงปลายปี 63 ทิศทางเงินทุนต่างชาติเริ่มไหลกลับมายังประเทศไทยมากขึ้น และเชื่อว่าหากภาพรวมเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ ก็เชื่อว่าทิศทางเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น

สำหรับผลกระทบเกี่ยวกับการได้รับวัคซีนเร็วหรือช้านั้น มองว่าจะกระทบอย่างมากต่อกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและโรงแรมที่จะต้องได้รับวัคซีนได้ความรวดเร็วเพื่อที่จะสร้างความน่าเชื่อถือ แต่อย่างไรก็ตามในบางภาคธุรกิจเริ่มเห็นการฟื้นตัวแล้ว จึงอยากแนะนำให้นักลงทุนพิจารณาการฟื้นตัวในรายกลุ่มอุตสาหกรรม รวมไปถึงการวิเคราะห์หุ้นรายตัวให้เหมาะสม เนื่องจากในแต่ละอุตสาหกรรมประกอบธุรกิจแตกต่างกัน

นายภากร กล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันมีผู้เปิดบัญชีแล้วกว่า 400,000-500,000 บัญชี จากปีก่อนทั้งปีมีการเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นราว 800,000 บัญชี เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้มีการเปิดบัญชีใหม่เฉลี่ยปีละ 300,000-400,000 บัญชี โดยมองว่าหลังจากที่เปิดให้สามารถลงทะเบียนเพื่อเปิดบัญชีผ่านระบบออนไลน์ และการนำเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่มีการกระจายหุ้นให้แก่นักลงทุนรายย่อยมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้เข้ามาเปิดบัญชีใหม่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีบัญชีทั้งหมด 4.2 ล้านบัญชี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top