นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้เห็นชอบหลักการมาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ออกมาเป็น 2 ระยะ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและประชาชน
มาตรการทั้ง 2 ระยะ จะแบ่งออกเป็นมาตรการที่เริ่มทำในช่วงที่โควิด-19 ระลอกใหม่ยังคงมีการแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งจะช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชานและผู้ประกอบการต่างๆ และ มาตรการระยะที่ 2 จะเป็นมาตรการที่เริ่มหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงไปแล้ว ซึ่งจะเป็นการฟื้นฟูและกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน
ทั้งนี้ รัฐบาลยังยืนยันว่ามีเงินเพียงพอรองรับในการใช้ทำมาตรการต่างๆออกมา
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค. 64 พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) หลายจุดมีการแพร่ระบาดทั้งในแหล่งที่พักอาศัยและในชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างและแม้ว่าประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนแล้วแต่สถานการณ์โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและยังอยู่ในจุดที่ต้องเฝ้าระวัง
ดังนั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ครม.จึงมีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำผู้ประกอบอาชีพอิสระผู้ประกอบการรายย่อยรวมไปถึงเกษตรกรรายย่อย ผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก
- มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้เงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 เพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้เพื่อนำเงินไปเป็นสภาพคล่อง เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ลูกหนี้มากจนเกินไป และพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อยเพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ
อีกทั้งกระทรวงการคลังขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ เช่น Non-bank เป็นต้น และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปประสานกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก ทั้งนี้ อาจให้ความสำคัญกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปน้อยในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการด้านการเงินที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้แก่
- พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้
- โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
- มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย
- มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
- การปรับวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
- การแก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กระทรวงการคลังจะมีการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที รวมไปถึงการออกมาตรการเพื่อดูแลและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเมื่อสถานการณ์ต่างๆได้คลี่คลายลงในระยะต่อไป
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รายได้ของประชาชน โดยที่ภาครัฐได้แบ่งมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบในส่วนของค่าครองชีพออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
มาตรการระยะแรก จะเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือและบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งมี 1. มาตรการลดค่าใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภค เป็นระยะเวลา 2 เดือน ในเดือน พ.ค.และ มิ.ย.64 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ทั้งค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปาสำหรับที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก
ส่วนมาตรการต่อเนื่องในส่วนของโครงการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน ครม.ได้มีการอนุมัติในหลักการ ในการขยายระยะเวลาการใช้จ่ายในโครงการดังกล่าวไปจนถึง 30 มิ.ย. 64 และจะมีการเพิ่มเงินให้อีก 2,000 บาท/ราย โดยจะเพิ่มให้ 1,000 บาท/สัปดาห์ โดยใช้วงเงินรวม 8.55 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะนำมาตรการดังกล่าวเข้า ครม.สัปดาห์หน้า
มาตรการระยะที่ 2 จะเริ่มหลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลงชัดเจนแล้ว ซึ่งภาครัฐจะสนับสนุนวงเงินในการเพิ่มและกระตุ้นกำลังซื้อ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยที่มีมาตรการ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกจะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.5 ล้านคน ในการให้ค่าครองชีพเพิ่ม 200 บาท/เดือน และให้เงินช่วยเหลือเร่งด่วนฉุกเฉินกับผู้ที่ได้ผลกระทบรุนแรง 200 บาท/คน ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีผลจนถึง 31 ธ.ค. 64
นอกจากนี้ ยังมีโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ที่จะนำมากระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยหลังจากโควิด-19 คลี่คลายลง โดยที่เกณฑ์โครงการคนละครึ่งยังเป็นไปตามเดิมที่รัฐบาลสนับสนุนเงินใช้จ่ายให้ 150 บาท/คน/วัน ไม่เกิน 3,000 บาท
และมาตรการสุดท้ายจะเป็นการมุ่งเป้าไปที่ประชาชนที่มีรายได้สูง ผ่านการทำโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยที่รัฐบาลจะให้ E-Voucher ในการใช้จ่ายไม่เกิน 7,000 บาท/คน เมื่อมีการใช้จ่ายไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ถึง 31 ธ.ค. 64 ส่วนโครงการเราเที่ยวด้วยกันได้เลื่อนการดำเนินการโครงการออกไปชั่วคราวเพื่อรอสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 คลี่คลาย
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลพร้อมเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการทั้งหมดในทุกมิติ เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงเตรียมแผนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาดีขึ้น อย่างไรก็ตามประชาชนทุกคนจำเป็นต้องร่วมมือกับรัฐบาลในการควบคุมการแพรทระบาดโควิด-19 ในประเทศ และดูแลตัวเองเป็นอย่างดี เพื่อทำให้การแพร่ระบาดโควิด-19 ลดลง ซึ่งจะนำพาประเทศไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งภาครัฐได้เตรียมมาตรการระยะที่ 2 รองรับไว้ในการทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้ดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 64)
Tags: Infographic, ดนุชา พิชยนันท์, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, เยียวยาผลกระทบโควิด-19, เยียวยาเศรษฐกิจ, เศรษฐกิจไทย