น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการยื่นขอเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) และการอุดหนุน (Countervailing : CVD) สินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย ในรูปแบบการกำหนดราคาขั้นต่ำหรือโควตาภาษี ตามร่างกรอบเจรจาจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทยกับเวียดนาม หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามได้ประกาศเปิดไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563
ทั้งนี้ เวียดนามกล่าวอ้างว่า ผู้ส่งออกและผู้ผลิตน้ำตาลของไทย มีพฤติกรรมการทุ่มตลาดและได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างสำคัญกับอุตสาหกรรมภายในของเวียดนาม และเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เวียดนามได้ประกาศผลชั้นต้น กำหนดให้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนชั่วคราวสำหรับสินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทยเป็นระยะเวลา 120 วันตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกำหนดอัตราอากรตอบโต้การอุดหนุนชั่วคราวในอัตรา 4.65% อัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวในอัตรา 44.23% สำหรับสินค้าน้ำตาลทราย และอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวในอัตรา 29.23% สำหรับสินค้าน้ำตาลทรายดิบ
“การยื่นขอเจรจาครั้งนี้ เพื่อจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าน้ำตาล ที่เวียดนามจะประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุดภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2564 โดยจะต้องส่งข้อมูลภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564”
น.ส.ไตรศุลีกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยไม่ดำเนินการใดๆ จะส่งผลกระทบดังนี้ คือ ประเทศไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเรื่องราคาจำหน่าย เนื่องจากสินค้าต้องเสียภาษีมากกว่าคู่แข่งในประเทศอาเซียน และจะสูญเสียโอกาสทางการตลาด เนื่องจากเวียดนามเป็นตลาดที่มีความต้องการนำเข้าน้ำตาลประมาณปีละ 700,000-800,000 ตัน และในระยะยาว เวียดนามยังมีความต้องการนำเข้าน้ำตาลทรายและ ผู้นำเข้าของเวียดนามน่าจะพิจารณาจากประเทศในอาเซียนก่อน เช่น มาเลเซีย หรือประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้าด้วย เช่น ออสเตรเลีย เนื่องจากน้ำตาลทรายที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศกลุ่มนี้ ยังมีความได้เปรียบด้านภาษีเมื่อเทียบกับประเทศนอกกลุ่ม แต่เวียดนามน่าจะพยายามขึ้นภาษีนำเข้าน้ำตาลทราย ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่บังคับใช้กับประเทศไทย ซึ่งอัตราภาษีอยู่ที่ประมาณ 40% ก่อนที่จะลดภาษีเหลือ 5% ภายใต้ข้อตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนหรือ ATIGA เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของตัวเอง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 64)
Tags: การทุ่มตลาด, ครม., น้ำตาล, น้ำตาลทราย, เวียดนาม, โควตาภาษี, ไตรศุลี ไตรสรณกุล