พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการมาตรการเยียวยาผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งเกิดผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงได้มีคำสั่งให้กับทางกระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ ได้ไปพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเพิ่มเติมโดยเร่งด่วน สรุปได้เป็นมาตรการดังต่อไปนี้
มาตรการระยะที่ 1 : มี 3 มาตรการหลัก ที่สามารถดำเนินการได้ทันที ได้แก่
- มาตรการด้านการเงิน มีสองมาตรการคือ
- มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก
- มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ SFIs โดยให้ SFIs ขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ ออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อลดภาระ และสามารถนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะจากผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสม
- มาตรการด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย โดยภาครัฐจะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปาของประชาชน และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.64 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและกิจการที่ถูกปิด
- มาตรการต่อเนื่องด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ประกอบด้วย 2 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท ได้แก่
- การเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 67,000 ล้านบาท
- การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนโครงการ ม.33 เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 18,500 ล้านบาท
ในส่วนของมาตรการระยะที่ 1 นั้น ในวันนี้ ครม.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการในส่วนของมาตรการด้านการเงินทั้ง 2 เรื่องตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา และไฟฟ้า ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน แล้ว
สำหรับการเพิ่มเงินในโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการจะเร่งนำเสนอโครงการให้พิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งได้กำหนดให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าต่อไป
นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการต่อเนื่องอื่นๆ อีก เช่น การช่วยเหลือลูกหนี้กยศ. โดยการขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดออกไปจนสิ้นปีนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ซึ่งจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ประมาณ 3 ล้านคน รวมทั้งการชดเชยผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่ต้องกักตัวหรือต้องหยุดทำงาน นอกจากโครงการระยะสั้นแล้ว ทางรัฐบาลยังได้วางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องไปอีกถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ ด้วย
มาตรการระยะที่ 2 : ในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค.64 ซึ่งคาดว่าหากเราร่วมมือกันเพื่อจำกัดการระบาดอย่างเต็มที่ สถานการณ์การระบาดน่าจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการในระยะที่ 2 ได้ โดยมาตรการในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก กรอบวงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท ได้แก่
- มาตรการลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่
- โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 13 ล้าน 6 แสนคน
- โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2 ล้าน 5 แสนคน
- มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่
- โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 : ซึ่งโครงการนี้ทุกท่านคงมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว และเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากได้โดยตรง
- โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” : โครงการนี้จะเป็นโครงการใหม่ ซึ่งโดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เมื่อชำระเงินผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่ายและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยมาตรการในระยะที่ 2 ทั้ง 4 โครงการข้างต้นจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 51 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถมีโอกาสในการขายสินค้า และบริการได้มากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 64)
Tags: กระทรวงการคลัง, ครม., ประยุทธ์ จันทร์โอชา, สภาพัฒน์, เยียวยาผลกระทบโควิด-19