ศาลรธน.มีมติ “ธรรมนัส” ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.และความเป็น รมต.

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากความเป็นอธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้นั้นต้องยึดเฉพาะคำพิพากษาของศาลไทย

“ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และ
มาตรา 98 (10) ด้วย” ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

สืบเนื่องจาก ส.ส.จำนวน 51 คน เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า ซึ่งยาเสพติด แม้จะเป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ กรณีดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) และเป็นเหตุให้ความเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) ด้วย

โดยศาลได้พิเคราะห์คำร้องและคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงของหน่วยที่เกี่ยวข้อง และเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ซึ่งมีข้อที่ต้องพิจารณาก่อนว่า คำว่า “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หมายความถึงคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นหรือไม่

รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” และวรรคสองบัญญัติว่า “รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม”

จากบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ลักษณะสำคัญของอำนาจอธิปไตยคือมีความเด็ดขาดสมบูรณ์ ไม่อยู่ในอาณัติหรืออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอื่น ซึ่งการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นการใช้อำนาจตุลาการ อันเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยย่อมต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติหรือภายใต้อำนาจตุลาการของรัฐอื่น หลักการปกครองของประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์มีหลักการสำคัญคือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่ถูกประเทศอื่นแทรกแซงกิจการภายในของตนโดยไม่มีการทำข้อตกลงหรือยินยอม

ดังนั้น การบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ดี การตีความให้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศมีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลไทยก็ดี จึงไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวตามหลักอธิปไตยของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ คำพิพากษาของศาลรัฐใดก็จะมีผลในดินแดนของรัฐนั้น ในบางกรณีรัฐใดรัฐหนึ่งอาจให้การรับรองคำพิพากษาของศาลอีกรัฐหนึ่งและอาจบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้นได้ แต่ต้องมีการทำสนธิสัญญารับรองและบังคับตามคำพิพากษาตามหลักการต่างตอบแทน โดยมีเงื่อนไขสำคัญตามหลักการต่างตอบแทนในสนธิสัญญาว่ารัฐภาคีต้องผูกพันที่จะเคารพและปฏิบัติตามผลของคำพิพากษาของอีกรัฐภาคีหนึ่งด้วย

ดังนั้น ทั้งหลักการและทางปฏิบัติของรัฐเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางตุลาการจะได้รับกรบัญติไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศเพื่อยืนยันหลักความเป็นอิสระของตุลาการและความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีการกล่าวถึงคำพิพากษาจึงต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลแห่งรัฐหรือประเทศนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ การตรากฎหมายอาญาของแต่ละประเทศกำหนดการกระทำที่เป็นความผิด องค์ประกอบของความผิด ฐานความผิด และเงื่อนไขการลงโทษไว้แตกต่างกัน

อีกทั้งหากตีความว่า “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด” หมายความรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย ทำให้ไม่อาจกลั่นกรองหรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าว และขัดต่อหลักการต่างตอบแทนกล่าวคือศาลต่างประเทศไม่ต้องบังคับหรือยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่าผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top