นายแจ็คกี้ ชาง ประธานบริหาร บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศอินเดียมีความรุนแรงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ของบริษัทในเมือง Krishnagiri ต้องล่าช้าออกไป ทำให้คาดว่าการเปิดการผลิตเชิงพาณิชย์คงต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงไตรมาส 2/65 จากเดิมคาดว่าจะเปิดได้ในไตรมาส 4/64
ส่วนโรงงานแห่งที่ 7 ในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง อาจได้รับผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3 เล็กน้อย ทำให้ต้องเลื่อนไปเปิดในช่วงไตรมาส 4/64 จากกำหนดเดิมในไตรมาส 3/64
อย่างไรก็ตาม การเลื่อนเปิดโรงงานแห่งใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิตคงไม่กระทบต่อภาพรวมของผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้มากนัก โดยยังมั่นใจว่ารายได้จะเติบโตตามเป้าหมาย 5-10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากรายได้ในช่วงไตรมาส 1/64 ยังเติบโตได้ดี จากความต้องการชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ที่มีผู้ผลิตส่งคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง เป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตให้กับบริษัทในปีนี้
ขณะที่สถานการณ์การขาดแคลนชิปที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถือว่ามีผลต่อทุนการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ปรับตัวสูงขึ้น และการส่งมอบงานให้กับลูกค้าที่อาจล่าช้าไปบ้าง บริษัทจึงต้องบริหารจัดการซัพพลายเชนต่างๆ อย่างดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถควบคุมต้นทุนการผลิต ไม่ให้กระทบต่อราคาขาย และยังสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับเหมาะสม แม้ว่าการส่งมอบสินค้าอาจเลื่อนไปเล็กน้อย แต่ก็เป็นปัจจัยที่กระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก
ทั้งนี้การดำเนินธุรกิจของบริษัทจากนี้ไปจะเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกมากขึ้น เพื่อต่อยอดจากกลุ่มลูกค้าไอที ธุรกิจพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกถือเป็นช่วงเริ่มต้น และมียังมีโอกาสเติบโตที่สูงมากขึ้นอีกในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนยอดขายยังไม่มาก แต่เห็นการเติบโตมากขึ้นต่อเนื่อง และหากมีการพัฒนาประสิทธิภาพของรถยนต์และแบตเตอรี่ให้ดีขึ้น และการสนับสนุนจากภาครัฐในประเทศต่างๆ จะทำให้การเปลี่ยนผ่านมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้นและมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลบวกให้กับบริษัทได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 64)
Tags: DELTA, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, เดลต้า อีเลคโทรนิคส์, แจ็คกี้ ชาง