นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความร่วมมือในการจัดหน่วยบริการวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม. มีเป้าหมายในการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ครอบคลุมอย่างน้อย 70% หรือประมาณ 5 ล้านคน โดยจะเริ่มทยอยให้บริการได้ตั้งแต่มิ.ย.-ธ.ค.64
ทั้งนี้ กทม. ได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อเป็นหน่วยฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ ไว้ 2 ส่วน คือ ส่วนแรก โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง และโรงพยาบาลอื่นๆ ที่เข้าร่วมด้วย รวม 115 แห่ง และส่วนที่สอง เป็นความร่วมมือจากภาคเอกชน คือ หอการค้าไทย ในการประสานจัดหาพื้นที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิดใน 14 พื้นที่ แบ่งเป็น กรุงเทพฯ เหนือ, กรุงเทพฯ ใต้, กรุงเทพฯ ตะวันออก และกรุงเทพฯ ตะวันตก ซึ่งคาดว่าจะให้บริการฉีดวัคซีนต่อวันได้ราว 25,000 คน
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในระหว่างนี้ คือช่วงเดือนพ.ค. จะความร่วมมือให้ประชาชนเข้าไปลงทะเบียนผ่าน Line Official หมอพร้อม เพื่อแจ้งความประสงค์ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งประชาชนสามารถเลือกว่าจะสะดวกไปรับบริการที่สถานพยาบาล หรือหน่วยบริการที่ใกล้บ้านได้ อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถเข้าไปลงทะเบียนเองได้ สามารถไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยลงทะเบียนได้อีกทางหนึ่ง
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การจัดเตรียมหน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาคเอกชนที่ร่วมกับกทม.นั้น คาดว่าในอนาคตจะมีเข้ามาเพิ่มมากกว่า 14 แห่ง เนื่องจากล่าสุดมีภาคเอกชนได้เสนอตัวที่จะเข้ามาช่วยเรื่องสถานที่หรือจัดหน่วยบริการฉีดวัคซีนถึง 60 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะทำให้ความสามารถในการฉีดวัคซีนให้กับคนกรุงเทพฯ ได้มากถึง 50,000 คนต่อวัน และมั่นใจว่าจะทำให้คนกรุงเทพฯ ได้รับวัคซีนครอบคลุมถึง 70%
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม. กล่าวว่า ในเดือนมิ.ย.64 กรุงเทพมหานครจะได้รับการจัดสรรวัคซีนสำหรับนำไปให้บริการแก่ประชาชน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) โดยมีเป้าหมายฉีดครอบคลุมอย่างน้อย 70% ของประชากรในกรุงเทพฯ หรือประมาณ 5 ล้านคน ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุม กรุงเทพมหานครจึงกำหนดจัดให้บริการวัคซีนในโรงพยาบาลควบคู่กับการให้บริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล
“การจัดให้บริการวัคซีนภายนอกโรงพยาบาล มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประชาชนสามารถเดินทางไปยังสถานที่ฉีดวัคซีนได้อย่างสะดวก โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล และพนักงานจิตอาสาที่มีมาตรฐานในการให้บริการ ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง ปลอดภัย และลดการแพร่ระบาดจากการเดินทางข้ามพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือจากหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการจัดจุดบริการฉีดวัคซีนในสถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า จำนวน 14 แห่งกระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ”
ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ
สำหรับหน่วยบริการวัคซีนโควิด-19 ทั้ง 14 แห่ง จะมีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ และที่ประชุมคณบดี สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสถาบันการศึกษา สาขาพยาบาลศาสตร์ของรัฐ สนับสนุนพยาบาลสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย และบุคลากรร่วมในการให้บริการวัคซีนโควิด-19
โดยกรุงเทพมหานคร มีแผนการให้บริการวัคซีนแก่ประชาชนในพื้นที่ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกในโรงพยาบาลทุกสังกัดในกรุงเทพมหานคร กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรือรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิด โรคเบาหวาน และโรคอ้วน
ส่วนที่สอง เป็นหน่วยบริการวัคซีนกรุงเทพมหานคร 14 แห่ง สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18-59 ปี ที่สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว และได้ทำการจองรับวัคซีนมาแล้ว รวมให้บริการได้ทั้งสิ้น 20,500 คนต่อวัน ดังนี้
- กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ SCG บางซื่อ 2,000 คน/วัน และศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว 2,000 คน/วัน
- กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 4 แห่ง ได้แก่ สามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน 1,500 คน/วัน ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค เขตสวนหลวง 1,000 คน/วัน True Digital Park เขตพระโขนง 1,000 คน/วัน และเอเชียทีค เขตบางคอแหลม 2,000 คน/วัน
- กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 3 แห่ง ได้แก่ เดอะมอลล์ บางกะปิ 2,000 คน/วัน โรบินสัน ลาดกระบัง 1,000 คน/วัน และโลตัส มีนบุรี 1,000 คน/วัน
- กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย 1,000 คน/วัน และไอคอนสยาม เขตคลองสาน 1,000 คน/วัน
- กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 3 แห่ง ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. พระราม 2 เขตบางขุนเทียน 1,500 คน/วัน เดอะมอลล์ บางแค 2,000 คน/วัน และบิ๊กซี บางบอน 1,500 คน/วัน
สำหรับการให้บริการวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 14 แห่ง จะให้บริการแก่ประชาชนที่ผ่านการจองคิวรับวัคซีนมาก่อน โดยกระบวนการให้บริการวัคซีนที่หน่วยมี 5 ขั้นตอน คือ
- การลงทะเบียน/ชั่งน้ำหนัก/วัดความดัน
- คัดกรอง/ซักประวัติ
- ฉีดวัคซีน
- สังเกตอาการ
- รับใบนัด/คำแนะนำ
โดยใช้เวลาเฉลี่ยต่อรายประมาณ 45 นาที
กรุงเทพมหานครมี ทั้งหน่วยบริการในโรงพยาบาล และนอกโรงพยาบาล ซึ่งจะเริ่มในเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2564 โดยจะมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ที่จะรับวัคซีนทาง LINE Official Account V.2 “หมอพร้อม” หรือแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ที่สามารถดาวน์โหลดได้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 64 เป็นต้นไป ซึ่งหลังจากที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์แล้วประชาชนสามารถจองรับวัคซีนได้ที่หน่วยบริการวัคซีนที่มีในกรุงเทพมหานคร หรือหากไม่สะดวกลงทะเบียนทางไลน์สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์ได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 64)
Tags: COVID-19, กรุงเทพมหานคร, ภาคเอกชน, วัคซีน, ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์, สนั่น อังอุบลกุล, หอการค้าไทย, อัศวิน ขวัญเมือง, โควิด-19