นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ บมจ.บางกอกชีทเม็ททัล (BM) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเปิดตัวรถ Mini EV Tuk-Tuk หรือ มินิ ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า อย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาส 2/64 จากปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลการอนุมัติจากกรมขนส่งทางบก โดยตั้งเป้าหมายการผลิตปีละประมาณ 300-400 คัน
ทั้งนี้ ในการผลิตรถ Mini EV Tuk-Tuk สมรรถนะของรถจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 -1.5 กิโลวัตต์ ซึ่งไม่ต้องจดทะเบียน แต่จะต้องซื้อ พ.ร.บ.เพื่อคุ้มครองบุคคลที่ 3 ลูกค้าเป้ากลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นกลุ่ม โรงแรม, รีสอร์ท, โรงงาน, โรงพยาบาล,หมู่บ้านต่างๆ และ รถตุ๊กตุ๊กเพื่อขายอาหาร (Food Tuk-Tuk) เป็นต้น
บริษัทมองว่า Mini EV Tuk-Tuk คือโอกาสที่จะสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ก่อน เนื่องจากราคาไม่สูง ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 85,000 บาท/คัน ไลน์ผลิตจะเน้นคันต่อคัน ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ซึ่งบริษัทจะออกแบบ และผลิตตัวถัง Mini EV Tuk-Tuk ทั้งหมด เพื่อลดต้นทุนลง ถือเป็นจุดแข็งของบริษัท เพราะจะมีเพียงมอเตอร์และแบตเตอร์รี่เท่านั้นที่ต้องสั่งซื้อ
นายธีรวัต กล่าวว่า ระหว่างที่รอการผลิตในเชิงพาณิชย์ บริษัทฯ ได้ดำเนินการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าต้นแบบให้แก่ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด นำไปทดลองใช้เป็นรถไอศกรีมเคลื่อนที่ เพื่อสร้างอาชีพให้คนพิการ และถือเป็นผลงาน CSR เพื่อมอบสิ่งดีดีให้แก่สังคม ซึ่งรถไอศกรีมเคลื่อนที่นี้ ได้ทดลองวิ่งแล้วตามจังหวัดต่างๆในประเทศไทย และผลลัพธ์ค่อนข้างมีประสิทธิภาพอย่างที่คาดหวังไว้ นอกจากเป็นการสร้างอาชีพให้ผู้พิการแล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆอีก เช่น ช่วยลดมลพิษทางอากาศ, ลดฝุ่น PM2.5 , ลดคาร์บอนไดออกไซน์ รวมถึงเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมตุ๊กตุ๊กในเมืองไทยด้วย
นอกจากนี้ในอนาคตบริษัทฯ ยังมีเป้าหมายจะผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าส่วนบุคคล 2 รูปแบบ คือ ใช้บรรทุกส่วนบุคคล และ ใช้บรรทุกสิ่งของ ไม่เกิน 1 ตัน ขนาดกะทัดรัด ซึ่งกำลังมอเตอร์ของรถจะอยู่ที่ประมาณ4-5 กิโลวัตต์สามารถออกถนนทางหลวงได้ แต่ต้องจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน บริษัทฯ คาดว่าในอนาคตจะมีการผลิต รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการทดสอบ และพัฒนาประสิทธิภาพรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า เพื่อให้ได้ในราคาที่จับต้องได้
“หากประชาชนทั่วไปสนใจอยากซื้อ มินิ ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ใช้งาน อาจไม่ต้องจดทะเบียน แต่จะต้องมี พ.ร.บ. ซึ่งบริษัทฯจะต้องหารือกับ กระทรวงอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสมอ. เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ เมื่อทางกระทรวง อุตสาหกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุมัติให้จดทะเบียนบุคคลที่ 3 หรือ พ.ร.บ.ได้ บริษัทฯ เชื่อว่าโอกาสในการขยายตลาด มินิ ตุ๊กตุ๊ก ไฟฟ้า ก็จะมีมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายการผลิตเริ่มต้นที่ปีละประมาณ 300-400 คัน” นายธีรวัต กล่าว
นายธีรวัต กล่าวว่า บริษัทยังได้จัดตั้งบริษัทย่อย ภายใต้ชื่อ บีเอ็ม อินโนเทค อินดัสตรี้ (BMI) สำหรับทำระบบออโตเมชั่นโดยเฉพาะ เน้นในการรับออกแบบระบบการผลิตแบบสำเร็จรูปขนาดย่อม ให้กับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตให้แก่ลูกค้าได้เป็นอย่างมาก เช่น ทำระบบหุ่นยนต์เชื่อม พร้อม Jig& Fixture สำเร็จรูป ให้ลูกค้าสามารถนำไปใช้ได้ทันที รวมถึงยังรองรับการพัฒนารถไฟฟ้า และรับจ้างผลิตรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 64)
Tags: BM, ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า, ธีรวัต อมรธาตรี, บางกอกชีทเม็ททัล, หุ้นไทย