นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในงานแถลงข่าวการรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “อำนาจสอบสวนความผิดที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.”ว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการแก้ไขอำนาจของ ก.ล.ต.ในการใช้อำนาจเป็นพนักงานสอบสวนการกระทำความผิดต่อตลาดทุน โดยอยู่ในระหว่างเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนเสนอให้กระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเป็นลำดับถัดไป
แต่ถึงแม้ ก.ล.ต.สามารถใช้อำนาจการสอบสวนตลาดทุนได้ด้วยตนเอง แต่ในขั้นตอนของการพิจารณาสำนวนสุดท้ายแล้วต้องขึ้นอยู่กับอัยการเป็นผู้ตัดสิน
ด้านนายศักรินทร์ ร่วมรังษี รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า การทบทวนแนวทางการสอบสวนนำมาประมวลเป็นสำนวน ซึ่งแต่เดิมต้องกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวนของดีเอสไอเป็นผู้ดำเนินการ โดยการทำงานบางส่วนมองว่าซ้ำซ้อนกันในกระบวนการรวบรวมหลักฐาน
ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นคดีความผิดเฉพาะเรื่อง เช่น การปั่นหุ้น การใช้ข้อมูลภายใน การมีคนออกมาให้ข่าวที่ส่งผลกระทบต่อวงกว้าง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ หากมีกระบวนการซ้ำซ้อนอาจต้องใช้เวลานานเกินไปในการตัดสินความผิดของอัยการ ดังนั้น ก.ล.ต. จึงเสนอให้สถาบันศูนย์วิจัยกฎหมายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาพิจารณากระบวนการว่าติดขัดหรือไม่อย่างไร
“เบื้องต้นจากการที่ได้รับฟังความคิดเห็นเข้ามาจากหลาย ๆ ฝ่าย จึงมองเห็นว่าควรที่จะกลับมาทบทวนมาก ๆ เนื่องจากจะต้องเพิ่มหน้าที่ในการทำงานมากขึ้นของ ก.ล.ต.และในหลาย ๆ ส่วนจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญ และความชำนาญในการสืบสวนสอบสวนด้วย”นายศักรินทร์ กล่าว
ส่วนนายภูมิศิริ ดำรงวุฒิ ศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการวิจัยและศึกษาประสิทธิภาพการใช้กฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ จะมี 3 ทางหลักคือ เรื่องมาตรการปกครอง อาญา และแพ่ง โดยประเด็นอำนาจการสอบสวนจะมีผลบังคับใช้โดยตรงกับมาตรการอาญา ซึ่งมองว่าการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงเพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ หากต้องส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวนอีกครั้งจะเป็นกระบวนการที่นานมากขึ้น
ดังนั้นจึงมองว่าหากตัดขั้นตอนดังกล่าว และให้ ก.ล.ต. เป็นผู้มีอำนาจสอบสวน ข้อดีคือ ก.ล.ต. จะสามารถรวบรวมข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเมื่อมีอำนาจสอบสวนจะมีสิทธิใช้เครื่องมือทางกฎหมายให้มีประสิทธิผลดีขึ้น โดยเฉพาะการกันบุคคลให้เป็นพยาน เนื่องจากคดีที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์จะมีมูลค่าสูง ดังนั้นผู้ที่มีข้อมูลจะอยู่ภายใต้การครอบงำต่าง ๆ ทั้งเรื่องเงินและอำนาจหน้าที่การทำงาน ซึ่งหากไม่มีการดูแลปกป้องกลุ่มพยานดังกล่าว ก็มีโอกาสที่กลุ่มนี้จะไม่เป็นพยานให้ ซึ่งอำนาจนี้สามารถให้ได้ต่อเมื่อเป็นพนักงานสอบสวนเท่านั้น ต่อมาคือสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลหลักทรัพย์ ซึ่ง ก.ล.ต. มีความพร้อมและเชื่อมข้อมูลได้ทันที และสุดท้ายคือจะช่วยลดขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันลงด้วย
ขณะดียวกัน ก.ล.ต. ไม่เคยทำงานด้านสอบสวนอาจมีภาระงานมากขึ้น เพราะไม่มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้นจึงต้องตัดสินใจว่าการลงทุนตั้งหน่วยงานดังกล่าวจะเหมาะสมหรือไม่ โดยช่วงแรก ก.ล.ต. ควรแยกหน่วยงานและพัฒนาบุคลากร รวมถึงอาจขอความร่วมมือหาที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญการสอบสวนให้ช่วยทำให้องค์กรเข้มแข็งในช่วงแรกก่อน ส่วนสุดท้ายคือการจับกุม การคุ้มครองพยานซึ่งต้องพึ่งพิงหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในจุดนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 64)
Tags: ก.ล.ต., กฎหมาย, คดีตลาดทุน, ดีเอสไอ, ตลาดทุน, พ.ร.บ.หลักทรัพย์, ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ, ยุทธนา แพรดำ, รื่นวดี สุวรรณมงคล, วีระชาติ ศรีบุญมา, ศักรินทร์ ร่วมรังษี