สรุปเนื้อหา “ไบเดน” แถลงสภาคองเกรส เล็งรีดภาษีคนรวย-ทุ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ภาพ: รอยเตอร์

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงต่อสภาคองเกรสสหรัฐในวันพุธตามเวลาท้องถิ่น หรือในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาไทย โดยแสดงความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศหลังจากที่ต้องเผชิญกับการล็อกดาวน์เป็นเวลาหนึ่งปี, การเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยปธน.ไบเดนมองว่า วิกฤตการณ์เหล่านี้เป็นโอกาสที่จะโน้มน้าวให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่า สหรัฐมีความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น และพร้อมสำหรับการลงทุนมูลค่ามหาศาลด้วยเงินจากผู้เสียภาษี

ปธน.ไบเดนได้แถลงถึงแผน “American Families Plan” ซึ่งเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านเครดิตภาษีวงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ และมาตรการเร่งด่วนอื่นๆ สำหรับประชาชนในสหรัฐทั้งการดูแลเด็ก, การให้สิทธิลางานเพื่อดูแลครอบครัวโดยยังได้รับค่าตอบแทน และการยกเว้นค่าเล่าเรียนสำหรับวิทยาลัยในชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการขึ้นภาษีคนรวยในสหรัฐครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี

ปธน.ไบเดนยังได้กล่าวถึงแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยสร้างงานให้กับชาวอเมริกันที่ไม่ได้จบการศึกษาระดับวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

“เกือบ 90% ของงานด้านโครงสร้างพื้นฐานในแผน American Jobs Plan ไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษาระดับวิทยาลัย” ปธน.ไบเดนกล่าว “ส่วน 75% ไม่ต้องมีวุฒิอนุปริญญา” และเพิ่มเติมว่า “แผนการลงทุนนี้เป็นต้นแบบที่ผู้ใช้แรงงานจะได้ร่วมกันสร้างอเมริกา”

“ประชาชนเก่งๆ อยู่ที่วอลล์สตรีท แต่วอลล์สตรีทไม่ได้สร้างประเทศนี้ขึ้นมา” ปธน.ไบเดนกล่าว “ชนชั้นกลางต่างหากที่สร้างประเทศนี้ และสหภาพแรงงานสร้างชนชั้นกลาง”

ข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาทั้งสองแผนนั้นมีขึ้น หลังจากที่ปธน.ไบเดนได้เสนอแผน American Rescue Plan วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นหนึ่งในมาตรการให้ความช่วยเหลือที่ต่อเนื่องกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ

การแถลงของปธน.ไบเดนยังเป็นการฉลองโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ฉีดให้ประชาชนไปแล้วกว่า 315 ล้านโดส รวมถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มอบเช็คให้กับผู้เสียภาษีเป็นวงเงินกว่า 160 ล้านดอลลาร์ด้วย

ปธน.ไบเดนยังระบุด้วยว่า “ความคืบหน้าของเราในช่วง 100 วันที่ผ่านมาในการต่อสู้กับโรคระบาดหนึ่งในครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ถือเป็นความสำเร็จในด้านโลจิสติกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐ”

ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนเชื่อว่า สหรัฐได้ผ่านพ้นจุดวิกฤตและเริ่มฟื้นตัวแล้วจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้ชาวอเมริกันเสียชีวิตจำนวนมากกว่า 5 แสนคน และยังสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของประเทศ

“อเมริกากำลังจะกลับมาอีกครั้ง เราจะทำให้หายนะกลับกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เราจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และเราจะทำให้การถดถอยกลายเป็นความเข้มแข็ง”

ปธน.ไบเดนกล่าว

อย่างไรก็ดี ปธน.ไบเดนเตือนว่า เขาจะขอให้บริษัทเอกชนและชาวอเมริกันที่ร่ำรวยเข้ามาร่วมแบกภาระด้านการเงินของประเทศมากขึ้น

“นี่เป็นเวลาที่บริษัทของสหรัฐและคนที่ร่ำรวยที่สุดซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1% ของพลเมืองอเมริกัน จะต้องร่วมแบ่งเบาภาระ โดยทางรัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีคนที่ร่ำรวยที่สุด และจะสั่งการให้สำนักงานภาษีดำเนินการกวาดล้างบรรดาเศรษฐีและมหาเศรษฐีที่โกงภาษี”

ปธน.ไบเดนกล่าว

ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนจะจัดเก็บภาษีเงินได้ส่วนบุคคลในอัตราสูงสุดที่ 39.6% สำหรับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 400,000 ดอลลาร์ต่อปี, จัดเก็บภาษีกำไรจากการลงทุน (capital gains tax) สำหรับผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์ต่อปีขึ้นไป, ยุติการยกเว้นภาษีกำไรจากการรับมรดก รวมทั้งยุติการยกเว้นภาษีอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มผู้จัดการกองทุน

“ทั้งหมดที่ผมเสนอนี้คือสิ่งที่ยุติธรรมแล้ว นี่เป็นความรับผิดชอบด้านการคลัง” ปธน.ไบเดนกล่าว พร้อมกับยืนยันว่าเงินทุนที่ระดมได้จากการปรับขึ้นภาษีจะช่วยสร้างงานหลายล้านตำแหน่ง และจะช่วยหนุนเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น

นอกจากนี้ ปธน.ไบเดนยังได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจในนามของ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่ถูกตำรวจล็อกคอจนเสียชีวิต เนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของเขาซึ่งตรงกับวันที่ 25 พ.ค.นี้

ปธน.ไบเดนกล่าวว่า ชาวสหรัฐสนับสนุนการปฏิรูปในครั้งนี้ และเขาทราบว่าพรรครีพับลิกันได้ร่วมหารือกับสมาชิกพรรคเดโมแครตในกรณีดังกล่าว

“เราจำเป็นต้องหารือกันเพื่อสร้างฉันทามติ” ปธน.ไบเดนกล่าว “กระบวนการทั้งหมดควรเสร็จสิ้นภายในเดือนหน้าให้ทันวันครบรอบการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์”

ปธน.ไบเดนระบุว่า สภาคองเกรสควรเร่งเรียกคืนความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมาย, ยุติการเหยียดเชื้อชาติในกระบวนการยุติธรรม และพิสูจน์คำพูดของลูกสาวนายฟลอยด์ ซึ่งได้กล่าวกับพ่อของเธอว่า “พ่อของหนูได้เปลี่ยนโลกใบนี้”

“หลังจากที่ได้มีการพิจารณาคดีฆาตกรรมของจอร์จ ฟลอยด์ เราเห็นได้ว่าคำพูดของเธอนั้นถูกต้อง หากเรากล้าที่จะลงมือทำ” ปธน.ไบเดนกล่าว “นี่คือโอกาสของเราที่จะสร้างความก้าวหน้าอย่างแท้จริง”

ทั้งนี้ นายดีเร็ก ชอวิน อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวอเมริกันได้ถูกตัดสินเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีความผิดฐานฆาตกรรมนายฟลอยด์โดยไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อนจากการใช้เข่ากดคอเขาเป็นเวลานานกว่า 9 นาที

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้มีมติอนุมัติร่างกฎหมายการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเพื่อให้ความยุติธรรมกับจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd Justice in Policing Act) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อยุติการบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐ

ส่วนในด้านนโยบายต่างประเทศนั้น ปธน.ไบเดนได้แถลงต่อสภาคองเกรสว่า เขาได้กล่าวกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนว่า สหรัฐจะยังคงตรึงกำลังทหารไว้ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก “ไม่ใช่เพื่อเริ่มต้นความขัดแย้ง แต่เพื่อป้องกันความขัดแย้ง” หลังจากที่จีนพยายามแผ่ขยายอิทธิพลมายังเขตแดนซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญดังกล่าว

ปธน.ไบเดนกล่าวกับปธน.สีว่า สหรัฐยินดีที่จะแข่งขันทางเศรษฐกิจกับจีน แต่ไม่ได้ต้องการสร้างความขัดแย้งแต่อย่างใด

“ผมบอกกับปธน.สีว่า เราจะยังคงตรึงกำลังทหารในอินโดแปซิฟิก เช่นเดียวกับที่เราทำร่วมกับองค์การนาโต (NATO) ในยุโรป ซึ่งไม่ใช่เพื่อเริ่มต้นความขัดแย้ง แต่เพื่อป้องกันความขัดแย้ง”

นอกจากนี้ ปธน.ไบเดนยังกล่าวกับปธน.สีด้วยว่า “เราน้อมรับการแข่งขัน แต่เราไม่ได้ต้องการสร้างความขัดแย้งกับจีน อย่างไรก็ตาม ผมบอกปธน.สีอย่างชัดเจนว่า ผมจะปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกันทั้งหมด”

ปธน.ไบเดนระบุด้วยว่า สหรัฐจะยืนหยัดต่อสู้กับการค้าที่ไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นการเอาเปรียบแรงงานและอุตสาหกรรมของสหรัฐ อาทิ การอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ และการขโมยเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ

ขณะเดียวกัน ปธน.ไบเดนยังได้กล่าวกับปธน.สีเช่นเดียวกับที่เขากล่าวกับผู้นำโลกหลายคนว่า สหรัฐจะยึดมั่นต่อพันธสัญญาที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพอันเป็นหลักพื้นฐานของมนุษย์

“ไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐที่มีความรับผิดชอบคนใดสามารถเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ประธานาธิบดีต้องเป็นผู้ที่แสดงให้เห็นถึงแก่นแท้ของประเทศ”

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศเผชิญหน้ากันท่ามกลางความขัดแย้งหลายประการ ซึ่งรวมถึงการค้า, การที่จีนส่งกำลังทหารไปประจำการในน่านน้ำทะเลจีนใต้ และประเด็นสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงและซินเจียงอุยกูร์

สำหรับประเด็นเกาหลีเหนือและอิหร่านนั้น ปธน.ไบเดนแถลงว่า รัฐบาลสหรัฐวางแผนรับมือกับการคุกคามของเกาหลีเหนือและอิหร่านด้วยการเจรจาและการป้องปรามอย่างเข้มงวดร่วมกับชาติพันธมิตร โดยปธน.ไบเดนระบุว่า โครงการนิวเคลียร์ของรัฐบาลเกาหลีเหนือและรัฐบาลอิหร่านถือเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของสหรัฐและประชาคมโลก

“เราจะร่วมมือกับชาติพันธมิตรอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือภัยคุกคามจากสองประเทศนี้ด้วยการเจรจาและการป้องปรามอย่างเข้มงวด” ปธน.ไบเดนกล่าว พร้อมกับเปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐอยู่ระหว่างการทบทวนการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ โดยระบุว่าจะมีการเสนอแนวทางใหม่ในการรับมือกับเกาหลีเหนือที่ไม่ให้ความร่วมมือ

ปธน.ไบเดนเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกับชาติพันธมิตรในการจัดการกับอุปสรรคที่สหรัฐต้องเผชิญ

“ประชาชนชาวอเมริกันทุกท่าน สหรัฐต้องแสดงให้เห็นว่าเราไม่เพียงแต่กลับมาสู่เวทีโลกแล้ว แต่จะยังยืนหยัดต่อไปด้วย และเราจะไม่แบกรับบทบาทผู้นำเพียงผู้เดียว แต่จะก้าวไปพร้อมๆ กับชาติพันธมิตรของเรา” และ “ไม่มีชาติใดจะสามารถรับมือกับวิกฤติการณ์ในปัจจุบันได้โดยลำพัง ไม่ว่าจะเป็นภัยก่อการร้าย, การพัฒนาโครงการนิวเคลียร์, การอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่, ภัยความมั่นคงทางไซเบอร์, การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รวมถึงวิกฤติครั้งล่าสุดที่เรากำลังเผชิญอยู่ ซึ่งก็คือโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก”

ปธน.ไบเดนกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top