ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การผลิตรถยนต์รวมของไทยในปี 2564 นี้จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคัน หรือขยายตัว ไม่น้อยกว่า 26.0% (YoY) จากการส่งออกรถยนต์ในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมาก หลังประเทศคู่ค้าหลักของไทย เช่น กลุ่มประเทศโอเชียเนีย ทวีปยุโรป และบางประเทศในอาเซียน รับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีขึ้นกว่าปีก่อน ประกอบกับการที่ค่ายรถญี่ปุ่นบางค่ายปรับสายการผลิตวางไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์บางรุ่นเพื่อส่งออกไปประเทศต่างๆรวมถึงส่งกลับญี่ปุ่น ทำให้การส่งออกรถยนต์ของไทยกลับมาฟื้นคืนขึ้น เป็นโอกาสให้ค่ายรถเพิ่มสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกขึ้นทดแทนกับตลาดในประเทศที่คาดว่าอาจจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนได้
คาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศรายไตรมาสปี 2564
ไตรมาสที่1 | ไตรมาสที่2 | ไตรมาสที่3 | ไตรมาสที่4 | ทั้งปี | |
2563 | 200,064 | 128,576 | 206,125 | 257,381 | 792,146 |
2564 | 189,093 | 150,000-155,000 | 195,000-212,000 | 246,000-264,000 | 780,000-820,000 |
%QoQ | -26.50% | -18.0% ถึง -20.7% | 27.9% ถึง 39.0% | 20.9% ถึง 29.7% | – |
%YoY | -5.50% | 16.7% ถึง 20.6% | -5.4% ถึง 2.9% | -4.4% ถึง 2.6% | -1.5% ถึง 3.5% |
ขณะที่ตลาดรถยนต์ในประเทศของไทย ได้รับผลกระทบจากการกลับมาระบาดอีกครั้งในรอบที่ 3 ของโควิด-19 ซึ่งแม้จะไม่มี การประกาศล็อกดาวน์ แต่มุมมองของประชาชนต่อการระบาดในครั้งใหม่ที่ส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากกว่าการระบาดในทุกครั้ง นี้ ยังผลทางจิตวิทยาให้เกิดความกังวลต่อรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และกระทบต่อการบริโภคในกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ตามมา โดยตลาดรถยนต์เป็นอีกกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบเนื่องจากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง รวมถึงมีผลผูกมัดด้านค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นใน ระยะยาว ซึ่งกำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นย่อมมีผลไม่เพียงการตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ของตัวผู้บริโภคเองที่จะลดลงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตัดสินใจอนุมัติให้สินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทผู้ให้สินเชื่อที่จะระมัดระวังมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในอนาคต
โดยผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศจะเห็นได้ชัดในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าการระบาดของโควิด- 19 จะหนักที่สุดก่อนที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศจะได้รับวัคซีน แต่ทว่าเมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำมากในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ทำได้ เพียง 128,576 คัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากสถานการณ์ในไตรมาส 2 ปีนี้ที่การประกาศใช้มาตรการมีความผ่อนคลายกว่าปีก่อนพอ ควร ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายจังหวัดจึงยังคงดำเนินต่อไปได้ มีผลให้ยอดขายรถยนต์โดยรวมไตรมาส 2 ปี 2564 อาจทำได้ 150,000-155,000 คัน ขยายตัวสูงขึ้นถึง 16.7%-20.6% (YoY) แม้เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ทำยอดขายได้ 189,093 คัน อาจหดตัวในระดับ-18.0% ถึง -20.7% (QoQ) ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากผลกระทบของโควิด-19 เองแล้ว ยังมีประเด็นที่ค่ายรถยนต์บางค่ายได้รับผลกระทบจากการขาด แคลนชิ้นส่วน โดยเฉพาะชิปอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ทั่วโลกด้วย จึงมีผลทำให้การผลิตรถยนต์ในบางรุ่นสำหรับค่ายที่ไม่ได้สต๊อกชิ้นส่วนดังกล่าวไว้ล่วงหน้าส่งมอบล่าช้าออกไปกว่าที่ควร อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตชิปหลักให้กับค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ในไทยมีแนวโน้มที่จะกลับมาส่งมอบให้ได้ตามปกติในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ก็น่าจะทำให้สถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลงไปได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองสถานการณ์ตลาดรถยนต์ช่วงครึ่งหลังแม้จะทยอยฟื้นตัวหลังคลี่คลายจากทั้งปัญหาโควิด-19 และการขาดแคลนชิ้นส่วนลงบ้าง แต่กำลังซื้อที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องการกระจายวัคซีน จึงคาดว่ายอดขายรถยนต์รวมปี 2564 นี้ อาจแกว่งอยู่ระหว่าง -1.5% ถึง 3.5% (YoY)
ทั้งนี้ สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศมีแนวโน้มจะฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป ภายหลังจากการ กระจายวัคซีนคาดว่าจะทำได้มากขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆทยอยผ่อนคลายความตึงเครียดลงได้ตาม ลำดับ ประกอบกับสถานการณ์การขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าจะกลับมาปกติได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่ารถยนต์ในประเทศไตรมาส 3 จะขายได้ 195,000 ถึง 212,000 คัน หรือขยายตัวถึง 27.9%-39.0% (QoQ) จากไตรมาส 2 และในไตรมาส 4 มีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์จะขยับสูงขึ้นต่อเนื่องไปอยู่ที่ 246,000 ถึง 264,000 คัน หรือขยายตัวถึง 20.9% ถึง 29.7% (QoQ)จากไตรมาส 3
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดรถยนต์ในประเทศทั้ง 2 ไตรมาสจะทยอยปรับตัวดีขึ้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในรอบนี้ที่จะฟื้นสู่ระดับปกติก่อนการระบาดในรอบ 2 และ 3 นั้นยังอาจต้องขึ้นกับตัวแปรสำคัญ คือ การเร่งปูพรมฉีดวัคซีนให้กระจายอย่างทั่วถึงโดยเร็ว ซึ่งส่งผลให้ต่อทิศทางกำลังซื้อของผู้บริโภคในระยะต่อจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่าตลาดรถยนต์ในประเทศทั้งปี 2564น่าจะทำได้ระหว่าง 780,000 ถึง 820,000 คัน หรืออยู่ระหว่าง -1.5% ถึง 3.5% (YoY)
ทั้งนี้ ในบรรดาประเภทรถยนต์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดนั้น ยังคงมองว่าเป็นกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กเนื่องจากกลุ่มผู้ ซื้อหลักเป็นกลุ่มรายได้ปานกลางลงมาและได้รับผลกระทบด้านรายได้ค่อนข้างมาก ทำให้นอกจากจะมีกำลังซื้อที่ลดลงแล้ว ยังมีความเสี่ยงสูงในการผ่อนชำระสินเชื่อเช่าซื้อ ทำให้มีโอกาสไม่ผ่านเกณฑ์ของผู้ให้สินเชื่อได้ง่าย ขณะที่กลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ยังพอมีปัจจัยบวกจากการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยหนุนตลาดบ้าง ส่วนรถยนต์อเนกประสงค์ที่ขยายฐานตลาดลงมาเล่นในรุ่นเล็กลงมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำตลาด น่าจะยังพอได้รับการตอบรับจากการเปลี่ยนความนิยมของผู้บริโภคมาสู่รถยนต์ประเภทนี้ ด้านรถยนต์ xEV ยังคงมีช่องให้ทำตลาดได้อีกมาก เนื่องจากฐานตลาดปัจจุบันยังน้อยมาก และปัจจุบันผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและและตอบรับต่อรถยนต์ xEV ดีขึ้นกว่าอดีต แม้ระดับความคึกคักจะลดลงบ้างจากผลของโควิด-19 ระลอกใหม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 64)
Tags: การผลิตรถยนต์, ตลาดรถยนต์, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เศรษฐกิจไทย