บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (ThaiBev) ที่ ‘BBB-’ อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตดังกล่าวทั้งหมดได้รับการนำออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวก
ฟิทช์ได้ประกาศนำอันดับเครดิตของ ThaiBev ออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวก ภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้ประกาศการตัดสินใจที่จะเลื่อนแผนการนำหุ้นส่วนน้อยของ BeerCo Limited ออกเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป (Spin-off) โดย BeerCo Limited เป็นบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อถือครองหุ้นของธุรกิจเบียร์ของ ThaiBev ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม สาเหตุหลักของการเลื่อนการ Spin-off ในครั้งนี้ เนื่องมาจากสภาวะตลาดที่อ่อนไหวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศไทยในระลอกที่ 3
ฟิทช์เห็นว่าการขายหุ้นของธุรกิจเบียร์ดังกล่าวเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิต
ฟิทช์คาดว่า ThaiBev จะสร้างผลประกอบการและกระแสเงินสดสุทธิ (Free cash flow, FCF) ที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องซึ่งน่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 4.0 เท่าได้ในปีงบการเงินสิ้นสุดเดือนกันยายน 2565 (ปีงบการเงิน 2565) และต่ำกว่า 4.0 เท่าในปีต่อไป แม้จะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินที่ลดลงต่อเนื่อง – ฟิทช์คาดว่า FFO net leverage ของ ThaiBev จะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับประมาณ 4.0 เท่าในปีงบการเงิน 2565 จากการเติบโตของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานตามปกติ โดย ThaiBev น่าจะยังคงสามารถสร้างผลประกอบการที่แข็งแกร่งในปีงบการเงิน 2564 แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศไทยจะทวีความรุนแรงขึ้นก็ตาม โดยคาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะเติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 5 และอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต (EBITDA margin) เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 28-30 จากร้อยละ 25
ในปีงบการเงิน 2562 ฟิทช์คาดว่า ThaiBev จะยังคงรักษา EBITDA ที่ระดับ 4–5 หมื่นล้านบาท (หรือประมาณ 1.3 – 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ต่อปีในปีงบการเงิน 2564-2566 ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการลดลงของอัตราส่วนหนี้สิน ยอดขายส่วนใหญ่ของบริษัทฯ มาจากการจำหน่ายในร้านค้าปลีกทั่วไปสำหรับการบริโภคภายในครัวเรือน (off premise) ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายที่น่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดจากมาตรการปิดเมือง (lockdown) และการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ดังเห็นได้จากผลการดำเนินงานที่ปรากฏในช่วงที่ผ่านมา
ในขณะที่สัดส่วนของยอดขายที่มาจากการจำหน่ายเพื่อการบริโภคในร้านอาหาร หรือสถานบันเทิง (on premise) ของบริษัทฯ อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้การจำหน่ายในลักษณะ off premise ของ ThaiBev ได้รับการสนับสนุนจากความแข็งแกร่งของเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ของบริษัทฯ เนื่องจากตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีลักษณะกระจัดกระจาย โดยกลุ่มร้านค้าปลีกรายย่อยแบบดั้งเดิมยังคงเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีสัดส่วนการจำหน่ายสูงที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท
ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำในภูมิภาค
สถานะทางธุรกิจของ ThaiBev ได้รับการสนับสนุนจากการเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มในภูมิภาค รวมถึงสถานะผู้นำทางการตลาดของสุราในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการจำหน่ายสุรา และร้อยละ 35-40 ของปริมาณการจำหน่ายเบียร์ในประเทศไทยและเวียดนาม การขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศเวียดนามและเมียนมาร์ช่วยให้ ThaiBev มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และช่วยให้มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น โดยสัดส่วน EBITDA จากประเทศไทยลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 80 ของ EBITDA รวม จากเดิมที่สูงกว่าร้อยละ 90 ในปีงบการเงิน 2560
ส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยใน Sabeco
ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ ThaiBev ฟิทช์มองว่า ThaiBev และ Saigon Beer-Alcohol-Beverage Corporation (Sabeco) บริษัทย่อยในประเทศเวียดนาม มีความเกี่ยวโยงในด้านการดำเนินงานและกลยุทธ์ทางธุรกิจอยู่ในระดับสูง แม้ว่าบริษัทฯ จะถือหุ้นใน Sabeco ในสัดส่วนเพียงร้อยละ 53.6 ฟิทช์จึงพิจารณากระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO) รวมของทั้งสองบริษัท แต่หักเงินปันผลที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นส่วนน้อยออกในการคำนวณ นอกจากนี้ ฟิทช์ยังถือว่าเงินสดในมือของ Sabeco ในสัดส่วนตามการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (จำนวนประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีงบการเงิน 2563) เป็นเงินสดที่มีภาระผูกพันซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นรายการหักในการคำนวณหนี้สินสุทธิได้
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตของ ThaiBev สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำทางการตลาดของสุราและเบียร์ในประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมาร์ ซึ่งช่วยชดเชยการที่บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทั่วโลกที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า สถานะทางธุรกิจของ ThaiBev ใกล้เคียงกับ Molson Coors Brewing Company (Molson Coors, อันดับเครดิต BBB- แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) แม้ว่า Molson Coors จะมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า แต่ก็มีความกระจุกตัวในตลาดอเมริกาเหนือ ในขณะที่ ThaiBev มีตำแหน่งผู้นำทางการตลาดภายในประเทศที่แข็งแกร่งกว่าคู่แข่งรายอื่นเป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นจาก EBITDA margin ที่สูงกว่าของ Molson Coors มาก โดยทั้งสองบริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิที่แข็งแกร่งซึ่งสนับสนุนการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนหนี้สินของทั้งสองบริษัทจะลดลงในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
โดยอัตราส่วนหนี้สินที่สูงของทั้งสองบริษัทเกิดจากการเข้าซื้อกิจการโดยใช้แหล่งเงินทุนจากการก่อหนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ สถานะทางเครดิตของ ThaiBev อยู่ในระดับต่ำกว่า บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS, อันดับเครดิต ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) เนื่องจาก ThaiBev มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า โดยทั้งสองบริษัทมีสถานะทางธุรกิจใกล้เคียงกันในฐานะผู้นำทางการตลาดในธุรกิจของตน
ThaiBev มีความเสี่ยงทางธุรกิจในระดับที่ต่ำกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับบมจ. โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น (DTAC, อันดับเครดิต AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ; สถานะทางเครดิตโดยลำพัง aa-(tha)) และบมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC, อันดับเครดิต AA+(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ; สถานะทางเครดิตโดยลำพัง aa-(tha))
โดย ThaiBev มีฐานะความเป็นผู้นำตลาดและมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดสุทธิที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วน FCF ต่อรายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) อยู่ที่ระดับร้อยละ 8 รวมถึงการเผชิญกับการแข่งขันทางธุรกิจที่ต่ำกว่า ในขณะที่ DTAC ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทย และ PTTGC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจมากกว่า ThaiBev ซึ่งเป็นผลจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตรากำไรในธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ทั้ง DTAC และ PTTGC มี FCF เป็นลบเป็นส่วนใหญ่ตลอดช่วงวัฏจักรของธุรกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูงในธุรกิจโทรคมนาคม และความผันผวนของความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจปิโตรเคมี ดังนั้น ThaiBev จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่าสถานะทางเครดิตโดยลำพังของทั้งสองบริษัทหนึ่งอันดับ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
– รายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) จากธุรกิจในประเทศไทยเติบโตในอัตราร้อยละ 3-5 ต่อปี ในปีงบการเงิน 2564-2566 โดยฟื้นตัวจากรายได้สุทธิที่ลดลงร้อยละ 3 ในปีงบการเงิน 2563 อันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา
– รายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) รวมจาก Grand Royal Group (GRG) บริษัทย่อยในประเทศเมียนมาร์ และ Sabeco เติบโตในอัตราร้อยละ 8-10 ต่อปี ในปีงบการเงิน 2564-2566 โดยฟื้นตัวจากรายได้สุทธิที่ลดลงร้อยละ 22 ในปีงบการเงิน 2563 อันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาและกฎหมายควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์สำหรับผู้ขับขี่ในประเทศเวียดนาม
– EBITDA margin (โดยเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต) ทรงตัวอยู่ในระดับร้อยละ 30-33 สำหรับธุรกิจในประเทศไทย และร้อยละ 20-23 สำหรับ GRG และ Sabeco
– ค่าใช้จ่ายลงทุนประมาณ 5 พันล้านบาทต่อปี ในปีงบการเงิน 2564-2566 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 2 ของรายได้
– อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ประมาณร้อยละ 50-60 ในปีงบการเงิน 2564-2566
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
– FFO net leverage อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง โดยที่ความเสี่ยงทางธุรกิจยังคงไม่เปลี่ยนแปลงและการสร้างกระแสเงินสดสุทธิ ไม่อ่อนแอลง
ปัจจัยลบ:
– FFO net leverage ยังคงอยู่ในระดับประมาณ 4.0 เท่า อย่างต่อเนื่อง
– มีหลักฐานหรือเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งทางการตลาด หรือประสิทธิภาพในการดำเนินงาน หรืออำนาจในการต่อรองราคา ที่อ่อนแอลง ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตของรายได้และอัตรากำไรที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: ThaiBev มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจากสิ้นปี 2563 จำนวน 5.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 6 พันล้านบาท เงินกู้ยืมธนาคาร 2 พันล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนนี้ส่วนใหญ่มีวงเงินกู้ยืมระยะเวลา 2 ปีจากสถาบันการเงินจำนวน 4.0 หมื่นล้านบาทรองรับ
นอกจากนี้ สภาพคล่องของบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 2.6 หมื่นล้านบาท (ซึ่งไม่รวมเงินสดที่มีภาระผูกพันตามคำจำกัดความของฟิทช์) และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินประเภทไม่สามารถยกเลิกได้ (committed revolving facilities ) ที่ยังไม่ได้เบิกถอนประมาณ 5.0 พันล้านบาท สถานะทางเครดิตและการสร้างกระแสเงินสดสุทธิที่แข็งแกร่งของ ThaiBev เป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทฯ สามารถเข้าถึงตลาดทุนและเงินกู้ยืม ซึ่งสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 64)
Tags: ThaiBev, ฟิทช์ เรทติ้งส์, ไทยเบฟเวอเรจ