โบรกฯมอง AAV รอดหลังปรับโครงสร้างแต่ผถห.อาจเสียเปรียบรอลุ้นราคา IPO ไทยแอร์เอเชีย

โบรกเกอร์ มองแตกต่างกรณีที่ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ทั้งบวกและลบ จากการประกาศปรับโครงสร้างกิจการและทุนของบริษัทฯ และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย

โดย ไทยแอร์เอเชีย จะได้สินเชื่อโดยนักลงทุนใหม่สูงสุดไม่เกิน 3,150 ล้านบาท ในรูปของหุ้นกู้แปลงสภาพ โดยราคาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ 20.3925 บาทต่อหุ้น และแปลงหนี้สินของเจ้าหนี้รายใหญ่ คือ บริษัท แอร์เอเชีย อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด ซึ่งถือหุ้นอยู่ 19,600,000 หุ้น หรือคิดเป็น 45% ของไทยแอร์เอเชีย จำนวนไม่เกิน 3,900 ล้านบาทเป็นทุน และแปลงเป็นหุ้น TAA ราคา 20.3925 บาทต่อหุ้นและยังใส่เงินเพิ่มทุนอีกจำนวนประมาณ 513.21 ล้านบาท

ขณะเดียวกันก็จะนำไทยแอร์เอเชียเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทน AAV คาดว่าจะใช้เวลา 7.5 เดือน

ราคาหุ้น AAV ปิดเที่ยงอยู่ที่ 2.50 บาท ลดลง 0.10 บาท (-3.85%)สวนดัชนี SET บวก 16.86 จุด(+1.08%)

โบรกเกอร์ความเห็นคำแนะนำราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น)
เคจีไอผถห.ได้ TAA แทนซื้อเมื่ออ่อนตัว3.25
ดีบีเอส วิคเคอร์สเสี่ยงราคา IPO TAAเก็งกำไร
ฟินันเซีย ไซรัสผถห.รับ dilution
ยูโอบี เคย์เฮียนผถห.อาจเสียเปรียบลดน้ำหนักลงทุน

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างกิจการของ AAV ครั้งนี้ส่งผลบวกต่อบริษัท เพราะสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาระหนี้สินเป็นปัญหาหนักที่จะต้องทยอยชำระคืนหนี้ข้างหน้าที่มีความเสี่ยงจะไม่สามารถคืนเงินกู้ได้ ดังนั้นการปรับโครงสร้างกิจการจะทำให้บริษัทแข็งแรง มีเงินทุนใหม่เข้ามา ทั้งจากนักลงทุนรายใหม่ การแปลงหนี้เป็นทุน และการเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม

“ดูโดยรวมดีต่อบริษัท แต่ตัวผู้ถือหุ้นอาจมีความเสี่ยงในส่วนราคาหุ้น TAA เนื่องจากพบว่า การแปลงหนี้เป็นทุน(ของบริษัท แอร์เอเชีย อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด) การใส่เงินใหม่ มีอัตราแปลงสภาพ 20.3925 บาทต่อหุ้น โดยจะเอาหุ้น AAV ออกจากตลาด และนำ TAA เข้าตลาด มีการแลกหุ้น 71 หุ้น AAV ได้ 7 หุ้น TAA และมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน 1 TAA หรือ หุ้น AAV 10 หุ้น แลกได้ 1 หุ้น TAA”

นายกิจพณ ชี้ให้เห็นว่า จากราคาปิด AAV เมื่อวานที่ 2.60 บาท จะทำให้ผู้ถือหุ้นมีต้นทุน TAA 26 บาท/หุ้น ขณะที่เจ้าหนี้ และ กลุ่มทุนใหม่ จะมีราคาแปลงสภาพหุ้น TAA ที่ 20.3925 บาทต่อหุ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียเปรียบ และในอนาคต TAA เพิ่มทุนด้วย ก็จะทำให้เกิด dilution

ดังนั้น ในแง่ผู้ถือหุ้นมีปัจจัยลบราคาหุ้นเพิ่มทุนของ TTA ที่มีราคาสูงกว่า ฉะนั้นจึงแนะนำว่าหากไม่มีหุ้น AAV ไม่ควรเข้าเก็งกำไร แต่หากมีอยู่ให้แบ่งขายออกอย่างน้อย 10% เพื่อหาเงินทุนมาใช้ในการเพิ่มทุน TAA

“ในทางกลยุทธ์ ควรลดน้ำหนักการลงทุนไปก่อน ถ้าติดราคาสูงแนะขายออก 10% เพื่อให้มีเงินพอสำหรับการเพิ่มทุน TTA ซึ่งก็ใช้เวลา 1 ปี และราคาหุ้นมีอัพไซด์จำกัด โดยในช่วง 1 ปี ยังไม่มีปัจจัยบวก และไม่รู้ว่าผลประกอบการจะกลับมาเมื่อไหร่”

นายกิจพณกล่าว

ด้านนายปริญญ์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างกิจการของ AAV ครั้งนี้เป็นแนวทางที่จะทำให้บริษัทรอดจากวิกฤตโควิด-19 โดยมีเจ้าหนี้หุ้นกู้แปลงสภาพ 3,150 ล้านบาท ซึ่งจะแปลงเป็นหุ้นภายในระยะเวลา 3 ปี โดยคิดเป็นหุ้นสัดส่วน 3.18% ขณะที่ผู้ถือหุ้นเดิมของ AAV สัดส่วนจะไม่เปลี่ยนแปลงหากย้ายมาถือหุ้น TAA เมื่อขาย IPO โดยมองว่าการเปลี่ยนมาถือหุ้น TAA จะมีประโยชน์มากกว่า เพราะ TAA ทำธุรกิจโดยตรง ต่างจาก AAV ที่เป็นบริษัทโฮลดิ้ง เข้าถือ TAA 55%

“การปรับโครงสร้างครั้งนี้ ดีต่อตัว AAV เขาตั้งใจให้รอด ถ้าไม่ทำวันนี้ก็ไม่มีทางรอด ซอฟท์โลนจากรัฐบาลก็ไม่ได้ เขาเจอสภาพคล่องตึงตัว เราก็ยังแนะนำซื้อ ราคาเป้าหมายไม่ได้เปลี่ยนที่ 3.25 บาท แต่ค่อยๆทยอยเข้าซื้อ ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว ไม่จำเป็นต้องรีบซื้อ กว่า TAA จะ IPO ก็ต้องใช้เวลา 7 เดือนครึ่ง และผลประกอบการแกว่งตัวตามฤดูกาล และยิ่งมีผลกระทบจากโควิดระลอก 3”

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า การปรับโครงสร้างกิจการของ AAV ครั้งนี้จะส่งผลเป็นบวกกับผู้ถือหุ้น เนื่องจากจะทำให้ AAV รอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ไปได้ แต่สิ่งที่น่าจะมีผลต่อผู้ถือหุ้น คือการที่มีกลุ่มนักลงทุนใหม่เข้ามา ซึ่งอาจจะทำให้มี Dilution ในแง่ของกำไรในอนาคต

โดยตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทาง AAV ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐในมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ตามที่เรียกร้อง ทำให้บริษัทต้องหาทางจัดการด้วยตัวเอง ด้วยการปรับให้ผู้ถือหุ้นใน AAV เปลี่ยนไปถือหุ้นใน TAA ทั้งหมด ประกอบกับมีการปรับโครงสร้างเพื่อลดภาระหนี้สินลงไป รวมถึงได้สภาพคล่องใหม่จาก IPO ต่าง ๆ เพราะฉะนั้นสภาพคล่องที่ได้เข้ามาจะมีจำนวนเกือบหมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอสำหรับรอการฟื้นตัวในการเปิดประเทศได้

แนวโน้มการฟื้นตัวของ TAA ในอนาคตยังคงเป็นไปตามภาพอุตสาหกรรมการบิน การเปิดประเทศ และนักท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบันน่าจะเป็นสถานการณ์ช่วงที่แย่ที่สุดแล้ว จึงมีแต่แนวโน้มฟื้นตัวในอนาคต แต่จะฟื้นช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยการกระจายวัคซีนให้พร้อมสำหรับการเปิดประเทศด้วย

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การปรับโครงสร้างกิจการของ AAV นั้นในที่สุดแล้วจะมีการชำระบัญชี เพื่อนำมาคืนกับผู้ถือหุ้น AAV ก่อน แล้วจะออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่จะไม่ได้จ่ายเป็นเงินสด แต่จะได้หุ้น TAA แทน ในอัตราการแลกเปลี่ยนหุ้น (swap) ในอัตราการคืนหุ้นเท่ากับ 1 หุ้นของบริษัทฯ ต่อ 0.098785 หุ้นของไทยแอร์เอเชีย

มูลค่าหุ้น AAV ที่ได้คืน ขึ้นกับราคา IPO ของ TAA ในกรณีหากใช้ราคาหุ้นเพิ่มทุนหรือราคาแปลงสภาพจากเงินกู้ของ TAA ที่ 20.3925 บ./หุ้น มาคำนวณจะได้ราคาหุ้น AAV เพียง 2.01 บาท เทียบกับราคาหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในขณะนี้ที่ 2.60 บาท ก็ดูเหมือนว่าจะไม่คุ้ม แต่ความจริงขึ้นกับราคา IPO ของ TAA ที่จะมีการกำหนดในอนาคตว่าจะเป็นเท่าใด คาดว่าจะสูงกว่าที่ 20.3925 บ./หุ้น

ดังนั้นราคา IPO ของ TAA จึงมีความสำคัญกับราคาหุ้น AAV ในขณะนี้มาก หากพิจารณาตามภาวะอุตสาหกรรมก็ยังไม่สดใส เพราะธุรกิจสายการบินได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 มาก ทำให้จำกัดการเดินทาง แต่การมีวัคซีน ก็เริ่มจะทำให้มีความหวังในระยะยาวมากขึ้น ที่ธุรกิจจะสามารถฟื้นกลับมาได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าราคา IPO จะขึ้นกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวว่ามีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้เร็วเพียงใด จากนี้ไปในเรื่องการปรับโครงสร้างต้องผ่านมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน และกระบวนการในการจัดทำ IPO ของ TAA ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาทั้งหมดอีกประมาณ 7.5 เดือน

แต่ข้อเสียประการหนึ่งที่มองเห็นคือ Dilution Effect ค่อนข้างมาก ที่จะเกิดกับ TAA คือ เงินกู้แปลงสภาพจำนวน 3,150 ล้านบาทจากนักลงทุนใหม่ ที่มีโอกาสแปลงได้ใน 3 ปี การแปลงหนี้เป็นทุนของไทยแอร์เอเชียอีก 3,900 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาหนี้ เจ้าหนี้หนึ่งรายจะใส่ทุนช่วยเหลือมาให้อีก 513 ล้านบาท หุ้นที่เกิดจากการ IPO และหุ้นที่จัดสรรให้กับนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ อีกไม่เกิน 45 ล้านหุ้น

สรุปคือ การเข้าไปซื้อเก็งกำไรหุ้น AAV เรื่องการมีโอกาสจะรอดได้ แต่ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นในเรื่องราคา IPO ไทยแอร์เอเชีย และภาวะ Dilution Effect หรือจำนวนหุ้นที่จะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในอนาคต จากการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะในที่สุด AAV ก็จะต้องถูกชำระบัญชี และออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯไป (Delisting) และมี TAA มาเป็นบริษัทจดทะเบียนฯ (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯแทน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , , , ,
Back to Top