นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จับมือกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยผู้ประกอบการธุรกิจผ่านกลไกค้ำประกันสินเชื่อ “โครงการค้ำประกันสินเชื่อตามพระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564” วงเงินเฟสแรก 100,000 ล้านบาท และจะเพิ่มในเฟสต่อไปอีก 150,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งโครงการ 250,000 ล้านบาท
ขณะนี้ทีมงาน บสย. ทุกส่วนงานพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการเต็มที่ สามารถรับคำขอจากสถาบันการเงินและเริ่มอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้ (27 เมษายน 2564) เป็นต้นไป
การค้ำประกันสินเชื่อในโครงการนี้ มีความแตกต่างจากโครงการเดิมๆ ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ บสย. ใช้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อ ภายใต้ พ.ร.ก. ฟื้นฟูสินเชื่อ ฉบับใหม่ เพื่อร่วมปลดล็อกข้อจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อ เพิ่มความมั่นใจให้สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ โดยเพิ่มสัดส่วน Max Claim สูงถึง 40% เพื่อช่วยอำนวยประโยชน์ต่อการเข้าถึงสินเชื่อให้มากที่สุดในช่วงสถานการณ์โควิด-19
- ค้ำฯ เต็มพิกัด “กู้ได้เท่าไหน ค้ำฯ ให้เท่านั้น” ค้ำประกันทุกราย ระยะเวลาสูงสุด 10 ปี
- วงเงินค้ำประกันเฟสแรก 100,000 ล้านบาท วงเงินรวม 250,000 ล้านบาท สิ้นสุด 9 ตุลาคม 2566
- ค่าธรรมเนียมค้ำฯ 1.75% ต่อปี ในปีที่ 1 และ 2 โดยในปีที่ 3-6 คิดค่าธรรมเนียมค้ำฯ 1% ต่อปี ในปีที่ 7 คิด 1.25% และปีที่ 8-10 คิดค่าธรรมเนียมค้ำฯ 1.75% ต่อปี (รัฐบาลสนับสนุนค่าธรรมเนียม รวม 3.5%)
- วงเงินค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 64)
Tags: กระทรวงการคลัง, ค้ำประกันสินเชื่อ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม, บสย., ฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ, สถาบันการเงิน, สุกานต์ วิศาลสวัสดิ์