นายสุรณเดช ธูปะวิโรจน์ วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่ม รฟท.อย่ระหว่างการขายเอกสารประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงินรวม 72,920 ล้านบาท และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม.วงเงินรวม 55,458 ล้านบาท ซึ่งจะใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยประเมินว่าน่าจะมีเอกชนเข้าร่วมประมูล 6 ราย หรือ 6 กลุ่ม ในแต่ละโครงการ
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีทั้งหมด 3 สัญญา จะสิ้นสุดวันขายเอกสารประกวดราคาในวันที่ 17 พ.ค.64 กำหนดยื่นเอกสารรวมทั้งซองเสนอราคาในวันที่ 18 พ.ค.64 โดยจะตรวจข้อเสนอทางเทคนิคก่อนถ้าผ่านจะพิจารณาด้านราคาโดยคัดเลือกผู้เสนอราคาต่ำสุด คาดว่าจะประกาศผู้ชนะการประมูลในวันที่ 8 ก.ค. 64
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ที่มี 2 สัญญา จะสิ้นสุดการขายเอกสารประกวดราคาในวันที่ 24 พ.ค.และยื่นเอกสารประกวดราคาในวันที่ 25 พ.ค.64 และคาดว่าจะประกาศผู้ชนะการประมูลในวันที่ 15 ก.ค.64
นายสุรณเดช กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนักในช่วงนี้ ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการประกวดราคา เพราะยื่นข้อเสนอผ่านระบบออนไลน์ เพราะใช้ระบบ e-bidding ของกรมบัญชีกลาง ส่วนราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นก็ไม่น่ามีผลกระทบมากนักเพราะโครงการรัฐให้เงินชดเชยค่างานก่อสร้าง ตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) หรือ เพิ่มขึ้นหรือลดลง 4% ของราคาที่ยื่นข้อเสนอ แต่หากราคาปรับขึ้นมาสูงกว่า 4% เอกชนก็ต้องรับภาระเอง
โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แบ่งการก่อสร้าง 3 สัญญา ได้แก่
- สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ราคากลาง 26,599 ล้านบาท
- สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ราคากลาง 26,913 ล้านบาท
- สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ราคากลาง 19,406 ล้านบาท
ส่วนโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. จำนวน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ราคากลาง 27,123 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ราคากลาง 28,333 ล้านบาท
สำหรับโครงการงานก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) หรือรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. นายสุรณเดช กล่าวว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ประกอบด้วยบจ.ซิโนไฮโดร, บจ.สหการวิศวกร และ บจ.ทิพากร เป็นผู้ชนะประมูลในวงเงิน 8,626.8 ล้านบาท แต่เอกชนไม่ยืนราคา จึงได้เรียกรายถัดไป คือ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) ซึ่งตกลงในราคายื่นมา 10,570 ล้านบาท และกำลังนำเสนอต่อคณะกรรมการ รฟท.พิจารณาอนุมัติต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 64)
Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, ประมูล, รถไฟทางคู่, รฟท., สุรณเดช ธูปะวิโรจน์