นพ.วิปร วิประกษิต ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเวชศาสตร์ระดับโมเลกุล คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การควบคุมการแพร่ระบาดต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนที่จะปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังมีแนวทางที่ทั่วโลกนำมาใช้คือ การฉีดวัคซีนให้ได้ 60-70% ของประชากร ซึ่งในช่วง 1-2 วันจะมีข่าวเรื่องอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจ แต่เหตุไม่พึงประสงค์ดังกล่าวเป็นภาวะชั่วคราว เพราะหลังได้รับการรักษาแล้วจะไม่เป็นอันตรายในระยะยาว ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดจากความเครียดจึงเป็นเหตุผลที่ต้องพักรอดูอาการหลังได้รับวัคซีน 30 นาที และเนื่องจากเชื้อโควิด-19 เป็นเชื้อใหม่ทำให้ยังไม่มีสารเคมีที่จะนำมาใช้ป้องกันการติดเชื้อ
“ร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทำให้การสร้างภูมิต้านทานโรคต่างกัน ไม่ได้มาจากการดื่มน้ำร้อนหรือดื่มน้ำมะนาว ขณะที่คนอ่อนแอ มีโรคประจำตัวก็สร้างภูมิต้านทานโรคได้ไม่ดี…กระบวนการที่จะสร้างภูมิต้านทานมีสองอย่างคือ การติดเชื้อตามธรรมชาติ หรือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่พบว่าสร้างภูมิต้านทานได้ไม่ดี เพราะมีโอกาสติดเชื้อได้อีก ดังนั้นจึงต้องใช้วัคซีน” นพ.วิปร กล่าว
นพ.วิปร กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใดก็ตามจะมีคุณสมบัติในการกระตุ้นภูมิต้านทาน เพื่อไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรง ขณะที่มีความเสี่ยง คือ อาการไม่พึงประสงค์ กับอาการแพ้วัคซีน ซึ่งมีผลการศึกษายืนยันว่าผู้ได้รับวัคซีนมีประโยชน์ในการกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานที่จะป้องกันการติดเชื้อ หากติดเชื้อจะช่วยให้ไม่มีอาการรุนแรง
“ความเสี่ยงที่เกิดจากการติดเชื้อมีมากกว่าความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีน” นพ.วิปร กล่าว
ขณะที่ นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในประเทศมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ทำสถิติสูงสุด กระจุกตัวในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะที่ทั่วโลกมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบ 9 แสนราย ซึ่งทาง สธ.จะนำมาพิจารณาแนวทางควบคุมการแพร่ระบาด และไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วย
“คนกังวลมากเมื่อเห็นตัวเลขวันนี้ แต่เป็นตัวเลขที่รอเคลียร์ ทำให้ค้างมา 3-5 วัน ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี ไม่ใช่ WFH แล้วออกไปร้านกาแฟบ่อยๆ” นพ.เฉวตสรร กล่าว
สำหรับมาตรการต่างๆ นั้นมาจากการประเมินเหตุการณ์ที่ผ่านมา เช่น กรณีคลัสเตอร์ร้านอาหารที่จังหวัดสุโขทัยเป็นที่มาของการกำหนดมาตรการควบคุมเรื่องการเปิด-ปิดสถานบริการ การเว้นระยะห่าง การห้ามดื่มสุรา เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น หรือกรณีคลัสเตอร์ผู้เข้าร่วมประชุมของธนาคารแห่งหนึ่งที่รับประทานอาหารร่วมกันแล้วกลับไปแพร่เชื้อให้คนในครอบครัวซึ่งเป็นที่มาของมาตรการทำงานที่บ้าน
ส่วนความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนล่าสุดได้ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไปแล้วทั้งสิ้น 1,095,445 โดส แยกเป็น เข็มแรก 934,449 ราย และเข็มสอง 160,996 ราย ซึ่งหลังจากได้รับมอบวัคซีนเพิ่มเติมแล้วจะมีการเร่งฉีดโดยเร็ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 64)
Tags: COVID-19, ฉีดวัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, วิปร วิประกษิต, โควิด-19