สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ศาสตราจารย์มาร์ติน บาแซนท์และศาสตราจารย์จอห์น บุชจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ของสหรัฐเปิดเผยผลการวิจัยระบุว่า ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในอาคารนั้นเท่ากัน ไม่ว่าบุคคลจะอยู่ห่างกัน 6 (1.83 เมตร) หรือ 60 ฟุต (18.29 เมตร) แม้จะสวมหน้ากากอนามัยก็ตาม และระบุว่า ความเสี่ยงดังกล่าวจะอยู่ในระดับต่ำในพื้นที่ซึ่งมีการถ่ายเทอากาศได้ดี
ผลการวิจัยดังกล่าวเท่ากับเป็นการท้าทายคำแนะนำที่ใช้กันทั่วโลกที่ให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคมราว 6 ฟุต (six-foot rule) เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
ศาสตราจารย์บาแซนท์และศาสตราจารย์บุชได้พัฒนาแบบจำลองเพื่อคำนวณความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในอาคารโดยพิจารณาจากระยะเวลาที่อยู่ภายในอาคาร, การกรองและการไหลเวียนของอากาศ, การสร้างภูมิคุ้มกัน, ไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ และการใช้หน้ากากอนามัย รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ที่มีการสูดอากาศเข้าสู่ร่างกาย เช่น การหายใจ, การรับประทานอาหาร, การพูด หรือการร้องเพลง
ทีมงานวิจัยระบุว่า กฎ 6 ฟุตนั้นไม่ได้มีพื้นฐานสนับสนุนทางกายภาพ เพราะอากาศที่บุคคลสูดหายใจเข้าไปในขณะที่สวมหน้ากากอนามัยนั้นมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนที่ขึ้นและลงอยู่ภายในห้อง ดังนั้นบุคคลจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 จากอากาศรอบๆ ตัวมากกว่าจากการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
ศาสตราจารย์บาแซนท์ระบุว่า ตัวแปรสำคัญที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) และองค์การอนามัยโลก (WHO) มองข้ามนั้นได้แก่ ระยะเวลาที่บุคคลอยู่ร่วมกันภายในอาคาร เพราะหากบุคคลอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อนานเท่าใด โอกาสที่จะติดเชื้อก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น
นอกจากนี้ การวิจัยระบุว่า การเปิดหน้าต่างหรือการติดตั้งพัดลมเพื่อให้อากาศมีการเคลื่อนที่ถ่ายเทมากขึ้นนั้น อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อติดตั้งระบบกรองอากาศใหม่
ผลการวิจัยนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า หากพื้นที่ใดที่มีการระบายอากาศอย่างเหมาะสม พื้นที่นั้นๆ ก็สามารถทำให้เป็นสถานที่ซึ่งปลอดภัยได้ แม้ว่าจะมีจำนวนคนเต็มความจุของสถานที่ก็ตาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 64)
Tags: Social Distancing, เว้นระยะห่างทางสังคม