กลุ่มเหล็ก มองแนวโน้มราคาในปท.-โลกยังปรับขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์ฟื้น

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาวะราคาเหล็กที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา และปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากช่วงตรุษจีนในเดือนก.พ. 64 มีอิทธิพลมาจากข่าวนโยบายของรัฐบาลจีนในการตัดลดปริมาณการผลิตในบางมณฑลที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการชะลอการรับคำสั่งซื้อสำหรับการส่งออกเหล็กผู้ผลิตเหล็กในประเทศจีน เนื่องจากปรากฏข่าวตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2564 ว่ารัฐบาลจีนมีแผนการปรับลดอัตราการชดเชยภาษีสำหรับการส่งออก (Export VAT rebate) ในสินค้าเหล็ก แต่ไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดของมาตรการและกรอบเวลาของนโยบาย ส่งผลต่อการกำหนดเงื่อนไขที่ผู้ซื้อต้องจ่ายค่าสินค้าเพิ่ม หากรัฐบาลประกาศปรับลด Export VAT rebate ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะราคาสินค้าเหล็กของจีน และส่งผลต่อราคาสินค้าเหล็กทั่วโลกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ราคาสินค้าเหล็กทั่วโลกจะปรับเพิ่มสูงขึ้น หลายประเทศทั่วโลกเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย และเวียดนามก็ยังคงพยายามป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรมอย่างการทุ่มตลาด ซึ่งมีการประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหลายรายการในช่วงปลายปี 2563 อีกทั้งยังมีมาตรการสนับสนุนการใช้สินค้าเหล็กในประเทศดังเช่นที่สหรัฐอเมริกาพยายามส่งเสริมนโยบาย Buy America เป็นต้น

ด้านนายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การปรับราคากลุ่มสินค้าเหล็กที่เพิ่มขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน และกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งมีอิทธิพลส่วนหนึ่งจากระดับอุปสงค์ที่ฟื้นตัวเทียบกับระดับอุปทานที่อาจจะยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้เต็มความสามารถในขณะนี้

โดยข้อมูลจาก Metal Bulletin พบว่า แร่เหล็ก และเศษเหล็ก ในเดือนเมษายน 2564 มีราคาอยู่ที่ 162 และ 432 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อตัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 83 และ 205 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น 119% และ 110% ตามลำดับ

ขณะที่ราคาสินค้าเหล็กทรงยาว เช่นเหล็กเส้น และวัตถุดิบอย่างเหล็กแท่งเล็ก หรือบิลเล็ต มีราคาปรับขึ้นเช่นกัน โดยในเดือนเมษายน 2564 มีราคาอยู่ที่ 645 และ 810 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อตัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 378 และ 441 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น 71% และ 84% ตามลำดับ

ส่วนกลุ่มสินค้าเหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน และวัตถุดิบอย่างเหล็กแท่งแบน หรือ สแลป ในตลาดโลกปรับขึ้นในอัตราที่สูงกว่า โดยราคาในเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 795 และ 925 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อตัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 360 และ 408 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น 121% และ 127% ตามลำดับ

นายวิโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของสถาบันเหล็กฯ พบว่า การผลิตสินค้าเหล็กประเภทต่างๆของไทยปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเหล็กประเภทต่างๆ โดยเฉพาะในเดือนก.พ.64 ที่มีการผลิตสินค้าเหล็กปรับเพิ่มขึ้น 9.1% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2563 ตลอดจนการนำเข้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 42.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2563

ดังนั้นคาดว่าปัญหาการขาดแคลนสินค้าเหล็กในประเทศจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญมากที่ประเทศไทยยังคงมีผู้ผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากมาตรการต่างๆของภาครัฐโดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนการใช้สินค้าเหล็กในโครงการการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเป็นมาตรการที่นอกจากจะช่วยอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศแล้วยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนเงินภายในประเทศ และช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top