น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) จัดงานสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “Training Workshop for Sustainable Bond External Review Providers” เพื่อเสริมสร้างความรู้ในทางปฏิบัติและเตรียมความพร้อมแก่ผู้ที่สนใจเป็นผู้ประเมินภายนอก (external review provider) ที่ให้บริการในประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ประเมินการออกและเสนอขายตราสารหนี้ในกลุ่มความยั่งยืน และส่งเสริมให้ตลาดทุนมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยจัดสัมมนาออนไลน์ต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 19-23 เม.ย.64
“ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและต่อเนื่องสู่มิติทางสังคมและผู้คนอย่างกว้างขวาง มีส่วนในการผลักดันให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงทุนหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงทางสังคมและการลงทุนในโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนไปพร้อมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากปริมาณการออกและเสนอขายตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนที่ออกโดยรัฐบาลไทยเพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในโอกาสนี้ ก.ล.ต. จึงร่วมกับ World Bank เป็นครั้งแรกในการจัดสัมมนาออนไลน์ให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมินการออกและเสนอขายตราสารหนี้ เพื่อความยั่งยืนที่คำนึงถึงวัตถุประสงค์เชิงบวกในด้านสังคมนอกเหนือจากด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยยกระดับบทบาทของตลาดทุนและผลักดันให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าต่อชุมชนและสังคม ไปพร้อมกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม” น.ส.รื่นวดี กล่าว
อย่างไรก็ดี การสัมมนาครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก World Bank โดยมีวิทยากรซึ่งเป็น external review provider ที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการให้ความเห็นหรือรับรองเกี่ยวกับตราสารหนี้ในกลุ่มความยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นด้านสังคม ตั้งแต่การปูพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับรูปแบบ หลักการ และวิธีการประเมิน มาตรฐานสากล การจัดทำและการเปิดเผยรายงานการประเมิน รวมถึงจัดกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้สนใจเป็นผู้ประเมินในทางปฏิบัติมากขึ้น ทั้งนี้ มีผู้แทนจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สำนักงานสอบบัญชี และอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมงาน รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องการส่งเสริมความยั่งยืน
Ms. Cecile Thioro Niang ผู้จัดการสายงานการเงิน ความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรม ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก กล่าวว่า ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการใช้แนวทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในภาคการเงิน และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เกิดความก้าวหน้าที่สำคัญซึ่งธนาคารโลกได้เข้าร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินของไทย เพื่อเร่งการพัฒนาระบบการเงินที่ยั่งยืนและสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานแบบ ESG ที่ยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลในเรื่อง ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ที่ได้ปรับใช้ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการเดินทางครั้งนี้
ทั้งนี้ ก.ล.ต. แสดงบทบาทเป็นผู้นำในการพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืนและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการมีแผนพัฒนาผู้ประเมินภายนอกที่เกี่ยวกับการออกและเสนอขาย Sustainability Bond ในระดับท้องถิ่น ธนาคารโลกมีความยินดีที่จะจัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการเป็นผู้ประเมินภายนอกนี้ขึ้นมาตามคำเชิญชวนของ ก.ล.ต. ธนาคารโลกหวังว่าการอบรมครั้งนี้จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการประเมินภายนอกในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น และช่วยสนับสนุนการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนในประเทศไทยให้มากขึ้นด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 64)
Tags: ก.ล.ต., ตราสารหนี้, ธนาคารโลก, รื่นวดี สุวรรณมงคล