สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างผลการศึกษาจากสถาบันเศรษฐกิจเยอรมัน (IW) ที่เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (20 เม.ย.) ที่ผ่านมาว่า การบริโภคในเยอรมนี ปี 2563 ลดลง 6.1% เทียบรายปี ซึ่งนับเป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี
รายงานระบุว่า ชาวเยอรมันใช้จ่ายกับการบริโภคส่วนบุคคลลดลงอย่างน้อย 1,250 ยูโร (ราว 4.7 หมื่นบาท) ในปี 2563 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรายปีในปี 2562 โดยคิดเป็นเงินรวม 1.16 แสนล้านยูโร (ราว 4.3 ล้านล้านบาท)
ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในระยะสั้น เช่น เสื้อผ้าหรือรองเท้า ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2563 ขณะสินค้าประเภทคงทนถาวร เช่น รถยนต์หรือเฟอร์นิเจอร์ มียอดซื้อลดลงในช่วงล็อกดาวน์รอบแรก แต่ยอดขายกลับมาเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบรายปี ในช่วงเดือนก.ค.ถึงธ.ค. เนื่องจากมาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ชั่วคราว
ขณะเดียวกันรายได้จากการบริการลดลง 7.8 หมื่นล้านยูโร (ราว 2.9 ล้านล้านบาท) ในปี 2563 หรือคิดเป็นมากกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
ทั้งนี้ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเยอรมนีนานกว่า 1 ปี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภครายไตรมาสที่จัดทำโดย Conference Board และ IW เพิ่มแตะ 97.1 จุดในเดือนมีนาคม ซึ่งสูงกว่าในไตรมาส 2 ของปีก่อนหน้าราว 10 จุด แต่ยังต่ำกว่าก่อนวิกฤตโรคโควิด-19 อยู่ 5 จุด
IW ระบุว่า “แม้แนวโน้มการมีงานทำของผู้บริโภคจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้งนับตั้งแต่ตกต่ำครั้งใหญ่ในไตรมาส 2 ของปี 2563 แต่ประชาชนยังไม่พร้อมจะจับจ่ายซื้อสินค้าเท่าไร”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 64)
Tags: XINHUA, เยอรมนี, เยอรมัน, เศรษฐกิจเยอรมนี