ศ.พิเศษ พิภพ วีระพงษ์ บริษัท ลอว์อัลลายแอนซ์ จำกัด ระบุว่า ยุคสมัยนี้คงได้ยินกันบ่อยๆ ใครจะทำอะไรกับบ้านเมืองก็มักจะอ้างว่าเงินภาษีของเรา จนชาวบ้านสับสนไปหมดว่าใครกันแน่ที่จ่ายเงินภาษีให้กับรัฐบาลเพื่อเอามาเลี้ยงดูปากท้องประชาชนและพัฒนาประเทศ ซึ่งหากใช้ตัวเลขในปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้เกือบ 2 ล้านล้านบาท
เชื่อหรือไม่ว่าตัวเลขจำนวนประชากรของประเทศไทยตามทะเบียนราษฎรในปัจจุบันมีร่วม 67 ล้านคน กลับมีคนยื่นแบบแสดงรายการของปี 62 ไม่ถึง 12 ล้านคน ซึ่งยอดดังกล่าวน่าจะตกลงพอสมควรในปี 63 ที่เพิ่งผ่านมาเนื่องด้วยผลพวงของโควิดต่อระบบเศรษฐกิจ ในบรรดากลุ่มบุคคลเหล่านี้เป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจริงๆ ในอัตราก้าวหน้าไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด ซึ่งมักจะเป็นคนทำงานในบริษัทที่มีเงินเดือนสูงระดับหนึ่ง เจ้าของห้างร้านที่ประกอบกิจการในนามส่วนตัว ผู้ให้เช่าหรือผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ เป็นต้น ที่เหลือคือกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนเงินได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการแต่ไม่มีเม็ดเงินภาษีที่จะต้องเสีย และยังอาจมีสิทธิได้รับเงินภาษีคืนจากกรมสรรพากรด้วย ฉะนั้นคนส่วนใหญ่ที่ยื่นแบบแสดงรายการเป็นบุคคลที่ไม่มีเงินภาษีให้เสีย แต่กรมสรรพากรอยากได้ฐานข้อมูลในระบบ กฎหมายจึงบังคับให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการไว้ก่อน
ยังมีผู้เสียภาษีอีกกลุ่มที่เป็นนักลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนหรือบรรดาเจ้าของกิจการในบริษัทต่างๆ ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่มีฐานะการเงินระดับบนของประเทศ เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 สำหรับเงินปันผล และร้อยละ 15 สำหรับดอกเบี้ย โดยใช้สิทธิเลือกไม่นำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณกับรายได้อื่นๆ ตอนปลายปีเพื่อลดความก้าวหน้าของอัตราภาษี ซึ่งหากไม่มีรายได้อื่นๆ แล้ว บุคคลกลุ่มนี้ไม่มีหน้าที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด โดยภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะถือเป็นที่สุด ส่วนกำไรจากการซื้อขายหุ้นนั้นจะได้รับยกเว้นภาษีหากได้กระทำในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เมื่อรวมผู้ที่ต้องเสียภาษีทั้งสองกลุ่มเข้าด้วยกัน จะพบความจริงที่น่าตกใจว่าจำนวนคนที่ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่กรมสรรพากรจริงๆ มีจำนวนเพียงไม่เกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ คิดเป็นเงินภาษีที่กรมสรรพากรจัดเก็บได้ทั้งสิ้นร้อยละ 16.74 โดยประมาณ บางคนอาจแย้งว่าภาษีเงินได้ส่วนใหญ่ของเราเก็บจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเนื่องจากคิดเป็นเงินภาษีที่จัดเก็บได้ถึงร้อยละ 34.57 บวกกับอีกร้อยละ 5 สำหรับภาษีเงินได้ปิโตรเลียม แต่อย่าลืมว่าบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเป็นเพียงบุคคลสมมติในทางกฎหมาย และเจ้าของนิติบุคคลเหล่านี้ทอดสุดท้ายก็คือบุคคลธรรมดาในกลุ่มที่หนึ่งหรือกลุ่มที่สองนั่นเอง ไม่ว่าจะถือหุ้นผ่านบริษัทต่างๆ กี่ทอดกี่ชั้นก็ตาม จึงพอพูดได้ว่าภาษีเงินได้ทั้งระบบของประเทศคิดเป็นร้อยละ 56 ของเงินภาษีทั้งหมดที่จัดเก็บได้
หากพิจารณาจากมุมมองเฉพาะด้านภาษีเงินได้แล้ว อาจกล่าวได้ว่าประชากร 7 ล้านคน กำลังแบกรับภาระเลี้ยงดูประชากรที่เหลืออีก 60 ล้านคนของประเทศ แล้วเงินภาษีที่เหลืออีกร้อยละ 44 ที่กรมสรรพากรจัดเก็บได้ มาจากไหน ก็มาจากภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 39.8 ภาษีธุรกิจเฉพาะร้อยละ 3 (เช่น กิจการธนาคาร การค้าอสังหาริมทรัพย์) ส่วนที่เหลือเป็นอากรแสตมป์ ภาษีการรับมรดกและอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรอื่นๆ อีกเช่น กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต ซึ่งจัดเก็บอากรได้กว่า 100,000 ล้านบาทและภาษีสรรพสามิตได้ประมาณ 550,000 ล้านบาท
ดังนั้น ต่อให้เราไม่ใช่ประชากรในกลุ่มเป้าหมายที่ได้จ่ายภาษีเงินได้ให้แก่กรมสรรพากร แต่จะมากจะน้อยทุกคนย่อมมีส่วนในการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้าและภาษีสรรพสามิตให้แก่ประเทศเสมอเมื่อมีการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าบริการ กล่าวคือ คนรวยมากบริโภคมากก็ต้องจ่ายภาษีให้รัฐมากหน่อย คนที่บริโภคน้อยก็จ่ายภาษีน้อยลงตามสัดส่วน ก็คงพอที่จะทำให้หลายๆ คนที่ไม่เคยเสียภาษีเงินได้ไม่ว่าโดยตัวเองหรือโดยผ่านบริษัทที่ตนถือหุ้น พูดเสียงดังขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อยว่า “เงินภาษีของเรา”
เมื่อสิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 ไปที่อัตราเดิมร้อยละ 10 แต่อย่างใด ในฐานะประชากรชาวไทย ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงนัก ก็ช่วยกันคนละไม้ละมือให้ประเทศของเราผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้โดยการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี แม้ว่าขณะนี้จะพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2563 ไปแล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่ได้ยื่นแบบสามารถเลือกใช้ระบบออนไลน์ของกรมสรรพากรซึ่งขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการให้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.64 โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มแต่อย่างใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 64)
Tags: กรมสรรพากร, งบประมาณ, พิภพ วีระพงษ์, ภาษี, ภาษีเงินได้, ลอว์อัลลายแอนซ์, เศรษฐกิจไทย