นางสาวนวลพรรณ น้อยรัชชุกร ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส (ASPS) กล่าวว่า ภาพรวมในแต่ละอุตสาหกรรมและหุ้นเด่นน่าลงทุนในไตรมาส 2/64 พบว่า กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลับมาฟื้นทั้งแนวราบ-คอนโดมิเนียมในปี 64 จากฐานที่ต่ำในปีก่อน แม้ว่าปีนี้ยังเผชิญกับโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ด้วยการที่ภาครัฐไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ และยังเดินหน้ากระจายวัคซีนในวงกว้างในช่วงกลางปีนี้ รวมถึงคงเป้าหมายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในครึ่งปีหลัง ก็น่าจะสนับสนุนให้ภาคอสังหาฯ เติบโตได้จากปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอสังหาฯ กลับมาทยอยเปิดโครงการใหม่ ๆ มากขึ้นเพื่อแย่งชิงยอดขาย และเร่งระบายโครงการเดิมเพื่อให้สามารถรับรู้รายได้จากยอดขายรอโอนกรรมสิทธิ์ (Backlog) เข้ามาได้มากที่สุด ซึ่งช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการใช้กลยุทธ์การเร่งระบายสินค้าคงเหลือเพื่อเก็บกระแสเงินสดจากการรับรู้รายได้ จึงทำให้ Backlog ปรับตัวลง
จากการรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการอสังหาฯ 17 รายในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่ามีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ราว 222 โครงการ มูลค่า 3.18 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 71% จากปี 63 ที่มีมูลค่า 1.9 แสนล้านบาท หรือจำนวน 162 โครงการ โดยส่วนใหญ่เป็นแนวราบ 162 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% และคอนโดมิเนียม คาดมี 60 โครงการ มูลค่า 1.38 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีเพียง 29 โครงการ มูลค่ารวม 3.7 หมื่นล้านบาท
โครงการแนวราบยังคงได้รับความสนใจจากผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่ยังคงขยายพอร์ตมากขึ้น เนื่องจากยังมี real demand สามารถสร้างรายได้รวดเร็ว และความเสี่ยงของการพัฒนาโครงการน้อยกว่าคอนโดมิเนียม แม้ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่าง AP, LH, SC อาจจะเปิดตัวโครงการแนวราบน้อยลงจากปีก่อน แต่ SPALI, ORI, SIRI, PSH ก็ยังคงเดินหน้าขยายพอร์ตแนวราบอย่างต่อเนื่อง
ส่วนคอนโดมิเนียม จากฐานที่ต่ำในปีก่อน และอุปสงค์อาจจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้นมาอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงสต็อกคงค้างก็ยังมีอยู่ในระดับสูง ทำให้แผนการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้ที่ 60 โครงการ แม้จะถือว่าสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ก็ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปี 60-61
นอกจากนั้น ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้น้ำหนักการเปิดตัวโครงการใหม่จะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่าราว 70% โดยประเมินยอดขาย (Presale) ทั้งปี 64 ไว้ที่ 2.76 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากปี 63 ที่มียอดขาย 2.49 แสนล้านบาท ซึ่งลดลง 5% จากปี 62 ถือเป็นการเติบโตครั้งแรกในรอบ 2 ปี ขณะที่ไตรมาส 1/64 คาดมียอดขายรวม 7 หมื่นล้านบาท เติบโตกว่า 20% จากไตรมาส 1/63 และเติบโตกว่า 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/63 หรือคิดเป็น 25% ของเป้ายอดขายทั้งปี
น.ส.นวลพรรณ กล่าวว่า จากแผนเปิดตัวโครงการใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ก็น่าจะทำให้มีดาวน์ไซด์จำกัด, ทิศทางดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการมี Backlog ที่ทยอยโอนกรรมสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง Backlog ณ สิ้นปี 63 อยู่ที่ 2.33 แสนล้านบาท แบ่งเป็น แนวราบ 3.5 หมื่นล้านบาท, คอนโดมิเนียม 1.12 แสนล้านบาท และโครงการ JV รวม 8.56 หมื่นล้านบาท คาดจะสามารถรับรู้รายได้ในปีนี้รวม 1.19 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้ในปี 65-68
ขณะที่คาดกำไรปกติของกลุ่มอสังหาฯ ปี 64 เท่ากับ 3.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน หลังจากหดตัวมาเป็นเวลา 2 ปี โดยประเมินยอดโอนกรรมสิทธิ์ อยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท เติบโต 4% เมื่อเทียบปีก่อน จากปัจจุบันมี Backlog รองรับ 40%
ปัจจุบันโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของผู้ประกอบการอสังหาฯ มีมูลค่ารวมราว 6 แสนล้านบาท เป็นโครงการที่พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ราว 1 แสนล้านบาท และหากรวมโครงการที่จะเปิดใหม่ในปีนี้ 3.18 แสนล้านบาท ก็จะทำให้สิ้นปีนี้มีสินค้าพร้อมขายอยู่ประมาณ 9 แสนล้านบาท หรือเกือบ 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ยอดขายแต่ละปีเฉลี่ยไม่ถึง 3 แสนล้านบาท หากจะระบายสต็อกให้หมดอาจจะต้องใช้เวลา 3-4 ปี ทำให้ประเด็นในเรื่องของซัพพลายยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
ทั้งนี้ แนะนำเลือกลงทุนในหุ้นที่มีการเติบโตของกำไรมากกว่ากลุ่ม ให้เงินปันผลสูง และมี Backlog สูง แนะ SPALI ราคาเป้าหมาย 25.50 บาท/หุ้น, ORI ราคาเป้าหมาย 9.55 บาท/หุ้น, LH ราคาเป้าหมาย 9.75 บาท/หุ้น
ด้านนายเอนกพงศ์ พุทธาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย ASPS กล่าวในประเด็นกลุ่มเช่าซื้อเติบโตแข็งแรง ว่า กลุ่มเช่าซื้อในปีนี้ถือเป็นกลุ่มที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่ง จากแนวโน้มกำไรในปี 64 จะเติบโต 22% จากแนวโน้มภาพรวมสินเชื่อที่คาดเติบโต 12% มาอยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่ขับเคลื่อนการเติบโตนำโดย กลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ คาดว่าจะเติบโตได้ 17% จากเศรษฐกิจฟื้นตัว และไม่มีการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
ASPS หยิบยกหุ้นกลุ่มดังกล่าว 2 ตัว คือ SAWAD, MTC ล่าสุด SAWAD จับมือกับธนาคารออมสินร่วมกันปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 18% ซึ่ง SAWAD ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาต่ำสุดที่ 15% ต่อปี ทำให้ธุรกิจมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ MTC ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามา และมองว่าผู้ประกอบการรายเล็กก็คงต้องปรับลดดอกเบี้ยลงเช่นกัน แต่ด้วยปริมาณความต้องการสินเชื่อที่จะเติบโตขึ้นในปีนี้ ก็น่าจะหักล้างผลกระทบการแข่งขันที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะรายใหญ่ที่มีข้อได้เปรียบ คือ ต้นทุนการเงิน (cost of fund) ต่ำกว่าผู้ประกอบการรายย่อย
2. กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก คาดว่าจะเติบโต 16% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ทำได้มากขึ้น โดยครึ่งปีแรกน่าจะยังไม่เห็นการเติบโตมากนัก แต่ให้น้ำหนักไปในครึ่งปีหลังมากกว่า มอง THANI, ASK, MICRO เติบโตได้ค่อนข้างดี
3.กลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิต คือ AEONTS คาดแนวโน้มกลุ่มนี้จะเติบโตประมาณ 5% ซึ่งยังไม่ได้มากนักหากเทียบกับสองกลุ่มข้างต้น เนื่องด้วยการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้ความต้องการใช้บัตรเครดิตลดลง
4.กลุ่มธุรกิจบริหารสินทรัพย์ คาดฟื้นตัวชัดเจนจากปีก่อน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกระจายวัคซีนมากขึ้น เอื้อต่อการขายสินทรัพย์และติดตามหนี้ รวมถึงแนวโน้มหนี้เสีย (NPLs) ที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 64-64 ทำให้ธนาคารมีแนวโน้มขายหนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสของ BAM และ JMT ในการเข้าซื้อหนี้ก้อนใหม่ ได้ในราคาที่สมเหตุสมผล หนุนการเติบโตในระยะยาว
นายเอนกพงศ์ กล่าวว่า ความเสี่ยงของกลุ่มเช่าซื้อในปีนี้ คือ หากเศรษฐกิจชะลอตัวจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์และการติดตามหนี้ กดดันแนวโน้มกำไรสุทธิของกลุ่มเช่าซื้อ, การปิดเมืองจะกดดันแนวโน้มสินเชื่อสุทธิให้เติบโตต่ำกว่าคาด, ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จะกดดันประสิทธิภาพการทำกำไร และการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ข้อบังคับจากภาครัฐ
หุ้นเด่นกลุ่มเช่าซื้อ แนะซื้อ MTC จากการขยายสินเชื่อที่ทำได้ดีต่อเนื่อง โดยมีเป้าขยายสาขาทั้งสิ้น 600 สาขา/ปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า คาดปีนี้สินเชื่อเติบโต 15-20% และคาดกำไรสุทธิในปี 64 ก็จะฟื้นตัวชัดเจน ให้ราคาเป้าหมาย 80 บาท/หุ้น และ ASK ได้รับผลบวกจากสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกที่จะเติบโต 13% ในปีนี้ ให้ราคาเป้าหมาย 21.60 บาท/หุ้น
นายกำพล อัครวินทร์ชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวในประเด็น กัญชง กัญชา เดินหน้าทำกำไร ว่า มองธุรกิจที่น่าจะได้ประโยชน์จากกัญชงกัญชา ประกอบด้วย 2 ปัจจัย ได้แก่ การเข้าตลาดได้เร็วเพื่อสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว, ฐานกำไร เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ หากมีการสร้างรายได้เข้ามาผู้ที่มีฐานกำไรเล็กๆ จะเติบโตได้โดดเด่นกว่า ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มที่สนใจทำธุรกิจนี้
– หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าและอื่นๆ อย่าง GUNKUL, BC, ZIGA, HFT ซึ่งส่วนใหญ่จะทำในแง่ธุรกิจต้นน้ำ เน้นการปลูกเป็นหลัก ยกเว้น GUNKUL ที่มีการสกัดเข้ามาด้วย
– หุ้นกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร เช่น STA ที่จะเน้นการปลูกกัญชงอย่างเดียว , CPF จะทำธุรกิจกัญชงครบวงจร หรือทั้งปลูกกัญชง สกัดน้ำมันกัญชง และผสมกัญชงในอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งหากองค์การอาหารและยา (อย.) สามารถให้นำเข้าเมล็ดกัญชง ก็น่าจะเป็น Sentiment บวกต่อกลุ่มต้นน้ำได้ก่อน
– หุ้นในกลุ่มธุรกิจโรงสกัด แปรรูป และเกษตร เช่น NRF, RBF, DOD, KWM ซึ่งเปรียบเสมือนกลางน้ำ จะเห็นได้ว่าต้องเข้าไปร่วมมือกับกลุ่มต้นน้ำ และปลายน้ำ ทำให้มองว่ากลุ่มนี้น่าสนใจจากการได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก
– หุ้นในกลุ่มสินค้าอาหารเสริม (ลูกค้า DOD) เช่น KISS, CHAYO, BEAUTY, JKN มองว่าหากมีประเด็นเกี่ยวกับ DOD ขึ้นมา หุ้นเหล่านี้ก็น่าจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย เนื่องจากเป็นพันธมิตรกัน
– หุ้นในกลุ่มสินค้าความสวยความงามและอื่นๆ เช่น KAMART, DDD, RS, SPA, MEGA, FN
– หุ้นกลุ่มเครื่องดื่มและอาหาร เช่น SAPPE, ICHI หากมีประเด็นการออกกฎระเบียบให้เอาสารสกัด CBD ในเครื่องดื่ม อาหาร ก็น่าจะเห็นการเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มนี้ โดยมอง SAPPE, ICHI น่าจะมี Sentiment บวกที่สุดหากมีประเด็นดังกล่าวออกมา จากพัฒนาการของแผนการออกผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ก็จะเป็น AU, TKN, M, OSP, CBG, TU
– หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล เช่น THG ที่จะทำครบวงจร และ PR9, EKH, BCH เน้นในส่วนของศูนย์บำบัด เป็นต้น
– หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและพลังงาน เช่น MINT, CENTEL, ERW น่าจะได้ Sentiment บวกจากอานิสงค์การท่องเที่ยวเกี่ยวกับกัญชง กัญชา เชิงการแพทย์ ที่รัฐให้การสนับสนุน หุ้นพลังงานและ ICT เช่น PTG , LOXLEY, TWZ มองเป็นช่องทางการจำหน่าย
นายกำพล กล่าวว่า ด้านความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจ มองว่าสินค้าต่อยอดที่มีความหลากหลาย สะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจ จึงเชื่อว่าการเป็นผู้เล่นรายแรกๆ จะมีความได้เปรียบสูง เนื่องจากเป็นสินค้าใหม่ในตลาด และมีกระตอบรับที่ดี ประกอบกับมาตรการป้องกันการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป จากต่างประเทศ 5 ปี จะช่วยความเสี่ยงการแข่งขัน
ในช่วงแรกที่อาจเกิดความล่าช้าในกลุ่มต้นน้ำ กลางน้ำ เป็นโอกาสให้ผู้ที่มีความพร้อมสามารถทำธุรกิจครบวจร หรือหาพันธมิตรธุรกิจต่างประเทศ สร้าง Know How หนุนให้ครองตลาดได้ก่อน และนอกจากตลาดในไทยแล้วเชื่อว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมากในต่างประเทศ เห็นได้จากทั้งตลาดใน 29 ประเทศที่อนุญาตเสรีแล้วในปัจจุบัน และอีก 35 ประเทศที่น่าจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 64)
Tags: ASP, กัญชง, กัญชา, กำพล อัครวินทร์ชัย, นวลพรรณ น้อยรัชชุกร, บล.เอเชีย พลัส, หุ้นไทย, เอนกพงศ์ พุทธาภิบาล