กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่าคณะทำงานติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนสรุปว่ากรณีพบผู้มีอาการคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะแขนขาอ่อนแรง จำนวน 6 รายใน จ.ระยองนั้น น่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนต้านโควิดของซิโนแวก ซึ่งจากการตรวจอาการและพิจารณาข้อมูลโดยละเอียดพบว่าไม่ใช่โรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้น การฉีดวัคซีนอาจเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางประสาทได้ แต่ไม่ได้พบบ่อย
สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติทั้ง 6 รายมีอาการมากน้อยแตกต่างกัน แต่เป็นเพียงอาการชั่วคราว และหายเป็นปกติภายใน 1-3 วัน ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก พร้อมแนะนำว่าทุกคนควรรับวัคซีนต้านโควิดเพราะประโยชน์ยังมีมากกว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น
“กรณีคลัสเตอร์ที่จังหวัดระยองทั้ง 6 ราย เป็นอาการคล้ายสโตรกหรือหลอดเลือดสมองชั่วคราวมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถรักษาหายได้ภายใน 1-3 วัน สิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร พอสืบสวนโรคด้วย MRI สแกนก็พบว่าปกติ…แต่คิดว่าน่าจะเป็นอาการที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ซึ่งจะติดตามต่อไป”
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า สำหรับวัคซีนล็อตดังกล่าวนั้นทางกองชีววัตถุได้ตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดปกติ โดยมีการตรวจสอบก่อนที่จะแจกจ่ายไปทั่วประเทศราว 5 แสนโดส และฉีดให้กับประชาชนมากกว่า 3 แสนราย ซึ่งฉีดไปเกือบหมดแล้วแต่ไม่พบความผิดปกติ และต้องติดตามว่าจะเกิดเหตุการณ์ในทำนองนี้อีกหรือไม่
“คณะกรรมการลงความเห็นว่าสามารถใช้วัคซีนล็อตนี้ต่อไปได้ เนื่องจากเกิดประโยชน์มากกว่าอาการข้างเคียงที่เป็นชั่วคราว และไม่มีอันตรายใดๆ ส่วนอาการที่เกิดก็เป็นเพียงกลุ่มก้อนเดียว และจากการใช้วัคซีนนี้ในต่างประเทศก็ไม่ได้มีปัญหา”
ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว
โดยเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก แต่จะมีการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย
สำหรับกรณีนี้ยังสามารถรับวัคซีนเข็มสองได้ ยกเว้นกรณีที่มีอาการแพ้วัคซีน เช่น เกิดผื่นแดง แน่นหน้าอก จะเปลี่ยนไปใช้วัคซีนตัวใหม่ที่มีส่วนประกอบแตกต่างไปจากวัคซีนตัวเดิม โดยอาการแพ้วัคซีนนั้นไม่สามารถคาดเดาไม่ได้ แต่มีโอกาสเกิดน้อยมาก ขอให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัยสูง
ด้าน พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ในฐานะนายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังเกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวแล้วแพทย์ได้ให้การรักษาตามมาตรฐาน โดยให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4.5 ชั่วโมง เป็นการรักษาฉุกเฉินที่มีข้อจำกัดเนื่องเวลาแต่ไม่เป็นอันตราย หลังจากนั้นได้เอ็กซเรย์สมองซึ่งไม่พบสิ่งผิดปกติ และทุกรายมีอาการกลับมาเป็นปกติ รายที่หายช้าสุดใช้เวลา 3 วัน และตรวจรักษาเพิ่มเติมไม่พบปัญหาเนื้อสมองตาย หรือหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้แต่ไม่พบบ่อย นอกจากนี้ยังมีอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาที่พบบ่อยคืออ่อนเพลียและง่วงนอน
“คลัสเตอร์ที่ระยองคิดว่ามีสาเหตุจากการฉีดวัคซีน แต่สาเหตุลึกลงไปคงต้องศึกษาและสืบค้นเพิ่มเติม แม้อาการจะกลับมาเป็นปกติแล้วก็ยังติดตามต่อเนื่อง”
พญ.ทัศนีย์ กล่าว
ขณะที่ นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงฯ จะปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินสถานการณ์ และให้ความมั่นใจกับประชาชน เนื่องจากการฉีดวัคซีนจะเป็นมาตรการควบคุมโรคในระยะยาว เมื่อมีการฉีดแล้ว 70% ของประชากรทั้งหมด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
“แผนการฉีดวัคซีนยังดำเนินการไปตามปกติ จากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ดูแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงที่เราคาดการณ์ไว้”
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 64)
Tags: COVID-19, กรมการแพทย์, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, ซิโนแวก, ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ, ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์, มหาวิทยาลัยมหิดล, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, อัมพฤกษ์, โควิด-19