บล.เออีซี (AEC) ชี้แจงข้อซักถามของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการของบริษัทได้ทำการติดตามรายการเงินลงทุนและเงินให้กู้ยืมต่างๆ ที่คงค้างอยู่อย่างใกล้ชิด โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 64 ได้เห็นควรให้นำหลักเกณฑ์การบริหารสภาพคล่องส่วนเกินโดยการลงทุนในตั๋วเงินตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 6/60 เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 60
ได้อนุมัติไว้มาใช้ปฏิบัติโดยเคร่งครัด บนพื้นฐานของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันและด้วยความเข้าใจอันดีกับลูกหนี้ตั๋วเงินที่คงค้างอยู่ เพื่อลดความเสี่ยงของบริษัทและบริษัทย่อยอีกทั้งได้มอบหมายให้ฝ่ายจัดการรายงานความคืบหน้าของเงินลงทุนและเงินให้กู้ยืมตลอดจนคดีความที่สำคัญต่างๆ ทุกครั้งที่มีการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทมีรายการเงินลงทุนตามราคาทุนและมูลค่ายุติธรรม ประกอบด้วย เงินลงทุนในตราสารหนี้ของ บมจ.สตาร์ ยูนิเวอร์แซล เน็ตเวิร์ค (STAR) มีมูลค่าตามวิธีราคาทุนตัดจำหน่าย 78 ล้านบาท มีหลักประกันเป็นหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย มีมูลค่ายุติธรรม 32 ล้านบาท ซึ่งบริษัทไม่ได้เรียกหลักประกันเพิ่มเติมและไม่มีการตั้งค่าเผื่อฯ โดย STAR จะทยอยชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมดภายในวันที่ 14 ม.ค. 65 รวม 132 ล้านบาท และจากการประสานงานใกล้ชิดและติดตามการชำระเงิน บริษัทได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก STAR ทำให้ปัจจุบันมียอดคงเหลือ 64.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนการชำระเงิน
แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ STAR จึงได้มีหนังสือขอต่ออายุตั๋วแลกเงินฉบับที่ 1 จำนวน 59 ล้านบาท ออกไปอีก 83 วัน และตั๋วแลกเงินฉบับที่ 2 จำนวน 5.3 ล้านบาทออกไปอีก 14 วัน พร้อมกับชำระดอกเบี้ยล่วงหน้าบางส่วน และยืนยันที่จะทำการชำระเงินคืนตามแผนที่ได้ให้ไว้ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณา
ขณะนี้ STAR ยังคงชำระหนี้ได้ตามแผน แต่หาก STAR ผิดนัดชำระหนี้ บริษัทก็จะทำการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นให้ครอบคลุมยอดหนี้ที่ผิดนัดชำระดังกล่าวต่อไป จากปัจจุบันหุ้นที่นำมาค้ำประกันตั๋วแลกเงิน เป็นหุ้น STAR SHENTON ENERGY PTY LTD. จำนวน 30,000,060 หุ้น ราคาหุ้นละ 0.8378 บาท คิดเป็นเงิน 25,134,050 บาท และหุ้น M8 SUSTAINABLE LIMITED (M8) จดทะเบียนในตลาดหุ้น AUSTRALIA จำนวน 23,900,000 หุ้น ซึ่ง ณ 31 มี.ค. 64 มีราคาหุ้นละ 0.038 AUD. เป็นเงิน 908,200.00 AUD. คิดเป็นเงินไทย 21,276,855.50 บาท รวมทั้ง 2 รายการมีมูลค่า 46,410,905.50 บาท คิดเป็น 72% ของมูลหนี้
สำหรับการลงทุนในตั๋วแลกเงินของ บริษัท เอซ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ACE) เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 63 ที่ได้มีมติให้ลงทุนในตั๋วแลกเงินกับบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่ง คือ บจ.ออลไรท์ เฮ้าส์ และบจ.เวลเนส ไลฟ์ เซ็นเตอร์ รวม 35 ล้านบาท ค้ำประกัน โดยเช็คลงวันที่ล่วงหน้า จากการประมาณการรายได้ในอนาคตของบริษัทผู้ออกตั๋วแลกเงิน กลุ่มบริษัทเชื่อว่า ACE จะได้รับชำระคืนเงินลงทุนดังกล่าวครบทั้งจำนวน ซึ่งแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการลงทุนดังกล่าวนั้น AEC เป็นผู้ให้กู้รวม 118 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6% โดยกำหนดวันชำระคืน วันที่ 22 มี.ค.64 และ 31 ธ.ค.64
ณ วันที่ 31 ธ.ค. 63 มูลค่าลงทุนในตั๋วแลกเงินข้างต้น คิดเป็น 54% ของสินทรัพย์รวมของ ACE และ ACE มีสินทรัพย์สุทธิติดลบ 58 ล้านบาท รวมทั้งบริษัทมีเงินให้กู้ยืมแก่ ACE 121 ล้านบาท (มีผลขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 46 ล้านบาท คิดเป็น 38%ของเงินให้กู้ยืมกับบริษัทดังกล่าว) ดังนั้น การลงทุนและเงินให้กู้ยืมดังกล่าวอาจกระทบต่อสภาพคล่องและฐานะการเงินของบริษัทฯ และ ACE อย่างมีนัยสำคัญ
การลงทุนในตั๋วแลกเงินดังกล่าวมุ่งหวังที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีและกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจหลักของบริษัทโดยพิจารณาผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย กำไรจากการซื้อขายและการลงทุน ทำให้บริษัทฯ สนใจในการลงทุนตั๋วแลกเงินดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมในการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มสูง บริษัทฯ จึงได้ชะลอการให้กู้ยืมรายใหม่ ทำการติดตามการดำเนินธุรกิจและการชำระคืนของลูกหนี้เดิมอย่างใกล้ชิด ซึ่งลูกหนี้บางรายได้นำเสนอแผนธุรกิจแล้ว และบางรายอยู่ระหว่างการเตรียมแผนธุรกิจมานำเสนอต่อคณะผู้บริหารของบริษัทฯ เพื่อพิจารณาตามขั้นตอน
นอกจากนี้ยังมีเงินลงทุนในบริษัทร่วม บริษัท โอ โมไบล์ จำกัด (O Mobile) เข้าลงทุนในบริษัท พี อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย ในสัดส่วน 85% ของทุนจดทะเบียน เป็นเงิน 42.50 ล้านบาท เนื่องจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.63 บริษัทมีเงินให้กู้ยืมแก่ O Mobile 40 ล้านบาท โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงขยายเวลาชำระหนี้ให้กับ O Mobile จากเดิมที่ครบกำหนดวันที่ 30 พ.ย.63 เลื่อนเป็นวันที่ 28 ก.พ.64
บริษัทยังลงทุนใน O Money ซึ่งเป็นบริษัทร่วมอีกแห่งหนึ่ง โดยบริษัทฯ เคยชี้แจงว่า O Money มีเงินให้กู้ยืมแก่บุคคลอื่นด้วย ซึ่งบริษัทฯ ได้รับจดหมายจาก O Mobile ถึงปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้ออไวรัสโควิด-19 ทำให้ยังไม่สามารถจ่ายเงินให้กู้ยืมคืนได้ อย่างไรก็ตามบริษัทได้ออกหนังสือทวงถามแล้ว และอยู่ระหว่างประสานงานกับผู้บริหารของ O Mobile ซึ่งหากไม่ได้รับการตอบรับ หรือข้อมูลประกอบการพิจารณาที่มีเหตุผลเพียงพอสำหรับการผ่อนผันการชำระหนี้ดังกล่าว จาก O Mobile ทางบริษัทฯ จะพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับการพิจารณาให้ O Mobile กู้ยืมนั้น บริษัทฯ มีการศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ว่าจะเป็นเงินให้กู้ยืมเพื่อสนับสนุนโครงการระบบ MVNO และการผลิตซิม (SIM) ที่ O Mobile ได้ลงทุนร่วมกับ TOT และ CAT แต่เมื่อเกิดโรคระบาด ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวไม่สามารถมาใช้บริการได้จึงกระทบต่อผลประกอบการและความสามารถในการชำระคืนหนี้ ทำให้ O Mobile ได้พยายามหารายได้จากช่องทางอื่น และได้เข้าลงทุนบริษัท พี อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยทั้ง onlineและ offline และมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตามปัจจุบันอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงยังมีรายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้ได้
ขณะที่ O Mobile และ O Money มีเงินให้กู้ยืมแก่กรรมการและบริษัทอื่นรวมเป็นเงิน จำนวนเงิน 68.70 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย และ O Money มีเงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ จำนวนเงิน 99.10 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย ซึ่งยังไม่ได้รับการชำระคืนและบริษัทอยู่ระหว่างการติดตามทวงถาม
ส่วนการที่บริษัทมีมติให้ ACE ซึ่งเป็นบริษัทย่อย กู้ยืมเงิน 25 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี โดยมีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 31 พ.ค.62 เพื่อนำเงินไปเป็นหลักประกันในการเข้าตรวจสอบกิจการของบริษัท คัฟเวอร์แนนท์ จำกัด (CVN) ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและมีผลประกอบการที่มีกำไร และมีการเจริญเติบโตที่ดี เพื่อแสวงหาโอกาสในการเข้าร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกัน เพื่อสร้างรายได้แก่บริษัทฯทั้งในรูปของผลตอบแทนจากการลงทุน และการเป็นที่ปรึกษาในอนาคตต่อไป โดยมีระยะเวลาการทำ Due Diligence ตามบันทึกข้อตกลงระบุไว้ไม่เกิน 45 วันนับจากวันที่ได้ลงนามร่วมกัน ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็จะได้รับใบหุ้นของ CVN จำนวน 8 ล้านหุ้นวางไว้เป็นหลักประกันแก่ ACE แต่หากผลการตรวจสอบกิจการไม่เป็นไปตามที่กำหนด ก็จะสามารถเรียกคืนเงินประกันจำนวนดังกล่าวได้
ปัจจุบันการทำ Due Diligence บริษัท คัฟเวอร์แนนท์ จำกัด ได้สิ้นสุดลงแล้ว และสาเหตุที่ใช้เวลาทำ Due Diligence นานกว่า 1 ปี เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ติดต่อประสานงานของทั้งสองฝ่าย และประธานเจ้าหน้าที่การเงินของ CVN รวมถึงความล่าช้าในการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ทำให้บริษัทย่อยใช้เวลาเกินกว่าที่คาดการไว้เป็นอย่างมาก ซึ่งเงินที่นำไปวางเป็นหลักประกันจะเปลี่ยนเป็นหุ้นของ CVN หาก AEC เข้าไปลงทุนในหุ้นสามัญของ CVN ซึ่งปัจจุบันทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้บรรลุข้อตกลงในการเข้าลงทุนแต่อย่างใด และอยู่ระหว่างประสานงานเพื่อหาข้อสรุป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 64)
Tags: AEC, Due Diligence, ตลท., หุ้นไทย, เออีซี