นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมสนทนาผ่านแอปพลิเคชั่น Clubhouse ร่วมกับกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย เสนอแนะแนวทาง “ฝ่าวิกฤติโควิด กับ Tony Woodsome” ระบุถึงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า รัฐบาลต้องตื่นตัวมากกว่านี้ และวัคซีนควรจะเป็นทางเลือกให้กับประชาชน โดยตั้งโจทย์ว่าต้องรักษาไม่ให้ประชาชนป่วย ดังนั้น รัฐบาลควรเปิดให้มีการสั่งวัคซีนได้อย่างเสรี และเปิดให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถสั่งวัคซีนมาได้
ประเทศไทยมีนักธุรกิจหลายคนมีความสามารถในการเจรจาซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ อย่างเช่น นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) อาจจะขอให้ไปช่วยเจรจากับรัฐบาลจีนขอซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มเข้าม หรือนายเจริญ สิริวัฒนภักดี กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ น่าจะสามารถคุยรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อขอซื้อวัคซีนไฟเซอร์ หรือนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) อาจจะไปคุยประเทศตะวันออกกลาง สั่งซื้อวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เข้ามาได้
หรือแม้กระทั่งตนเอง ก็สามารถคุยกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เพื่อซื้อวัคซีนสปุตนิกไฟว์ ขอให้บอกมาก็ยินดีพร้อมช่วยได้
“รัฐบาลต้องตื่นตัวมากกว่านี้ และเมื่อได้รับวัคซีนต้องรีบกระจายการฉีด ไม่ใช้กระจุกอยู่ที่เดียว ในเมื่อรัฐบาลรับกินรับใช้กับการประกันสุขภาพประชาชน ทำไม่ไม่เอาวัคซีนดีๆ วัคซีนเยอะๆมาให้ ไม่ป่วยเสียพันหนึ่ง ถ้าป่วยเสียล้านหนึ่ง น่าจะยอมเสี่ยง แล้วงบที่กู้มา 1.9 ล้านล้านเอามาแจกแล้วไม่ได้ผลทางเศรษฐกิจ บรรเทาไปสองสามมื้อไม่ได้บรรเทาทั้งหมด คืออยากให้คิดองค์รวมของการแก้ปัญหา ไม่ใช่คิดจุดใดจุดหนึ่ง”นายทักษิณ กล่าว
นายทักษิณ กล่าวอีกว่า ภาครัฐและเอกชนควรหารือกันเพื่อช่วยกันร่วมแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่างสมัยของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชน (กรอ.) เพื่อให้มีองค์กรรัฐและเอกชนร่วมกันทำงาน เพราะ พล.อ.เปรมเป็นทหารไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้น วันนี้อยากให้นายกรัฐมนตรียอมรับความจริงว่าไม่มีความรู้ทางเศรษฐกิจ และควรฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน
ทั้งนี้ นายทักษิณ ตอบคำถามถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการให้เอกชนนำเข้าวัคซีนอย่างเสรีอาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำว่า หากให้เอกชนเป็นคนสั่งซื้อวัคซีนแล้วรัฐบาลช่วยอุดหนุนก็ไม่เห็นจะเป็นปัญหา แม้ว่าที่จริงแล้วรัฐบาลควรจัดหาวัคซีนฟรีให้ทั้งหมด แต่เมื่อทำไม่ทันหรือทำไม่เป็น ก็ควรให้เอกชนมาช่วย ซึ่งใช้งบประมาณในอุดหนุนไม่มาก เพราะหากเศรษฐกิจพังจะส่งผลเสียหายมากกว่า
สำหรับแผนการการกระจายวัคซีนที่ถูกมองว่าล่าช้าเกินไป แม้รัฐบาลจะระบุว่าการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผนที่วางไว้นั้น นายทักษิณ กล่าวว่า แผนการกระจายวัคซีนจะเขียนอย่างไรก็ได้แต่ต้องทำให้ได้ตามแผน ยกตัวอย่าง ยูเออี มีวัคซีนทุกยี่ห้อแล้วกระจายให้ประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวฟรี แต่เหตุใดประเทศไทยจึงไม่ทำบาง ทำไมต้องจำกัดอยู่ที่วัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อ
นอกจากนั้น ควรทำความเข้าใจในตัววัคซีนของแต่ละบริษัท เช่น วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนที่มีผลกระทบข้างเคียงมากกว่ากว่ายี่ห้ออื่นๆ ส่วนวัคซีนที่มีปัญหาน้อยสุด คือ ไฟเซอร์ รองมาคือ โมเดอร์นา ส่วนวัคซีนจากประเทศจีนนั้น วัคซีนซิโนฟาร์มถูกใช้อย่างกว้างขวาง แต่ไทยกลับไปสั่งของซิโนแวก ซึ่งเป็นของเอกชน
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักถึง 10% ต่อจีดีพีประเทศ แต่ในขณะนี้เรากำลังปล่อยให้ประเทศอื่นแย่งลูกค้าไป เช่น มัลดีฟให้นักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนฟรี ทำให้อย่างน้อยนักท่องเที่ยวต้องอยู่ในมัลดีฟอย่างน้อย 21 วัน เป็นต้น ทุกประเทศพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังนั้น ประเทศไทยควรรีบเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว และมีผลรับรองจาก PCR Test เป็นลบ สามารถเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ และบุคลากรในภาคท่องเที่ยวควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเพื่อให้สามารถบริการด้วยความปลอดภัยได้
“สิ่งที่เร่งด่วนที่สุด ที่จะมีโอกาสฟื้นต้วเร็วที่สุด คือ การท่องเที่ยว แต่ต้องให้คนมาเที่ยวมั่นใจว่า ประเทศไทยเซฟ มีระบบป้องกัน ระบบการคัดกรองดีเรียบร้อยแล้ว การท่องเที่ยวน่าจะฟื้นก่อนเพื่อน”นายทักษิณ กล่าว
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า หากได้มีโอกาสบริหารงบประมาณประเทศ ก็จะจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสก่อน ทั้งการตรวจและระดมการฉีดวัคซีน สร้างบรรยากาศและเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจทันที เพราะจะเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยรวมมากกว่าการแจกเงิน ซึ่งงบประมาณที่เหลือ 2 แสนกว่าล้านบาทถือว่าเพียงพอ สามาถใช้ทางการแพทย์ จัดหาวัคซีน รวมถึงปูพรมตรวจ หรือตรวจให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้ไม่ถึงแสนล้านบาท ส่วนที่เหลือก็นำมากระตุ้นเศรษฐกิจ มาช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อจะได้ให้เดินหน้าต่อได้
แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ คือ วิธีแจกเงินนั้น เงินที่นำมาใช้คือเงินภาษีอากรประชาชนเอาไปคืนให้ประชาชน อย่าหวังว่าจะได้ผลในการซื้อเสียง เพราะคนที่ไม่ได้รับเงินมีความรู้สึกว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีไปผลาญไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจในภาพรวม ส่วนการฟื้นฟู SME หลังโควิดจะต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคเอกชนทั้งระบบ และขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เดินต่อไปให้ได้ รวมถึงสร้างบรรยากาศในการลงทุน
สิ่งสำคัญ คือ รัฐบาลต้องกำหนดทิศทางแก้ปัญหาโควิด-19 ให้ถูกต้อง ให้ความรู้กับประชาชนเพื่อไม่ให้วิตกกังวล และสร้างความมั่นใจ ให้เกิดบรรยากาศความคึกคักทางเศรษฐกิจ และร่วมกันแก้ปัญหา การแก้ไขปัญหาโควิด-19 ควรต้องใช้ความรู้นำกฎหมาย แทนที่จะบอกประชาชนว่าถ้าไม่ทำตามจะถูกจับถูกปรับ ควรจะหันมาให้ความรู้แทน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 64)
Tags: COVID-19, กลุ่ม CARE, ทักษิณ ชินวัตร, วัคซีนต้านโควิด-19, โควิด-19