สธ.มั่นใจแก้ปัญหาขาดแคลนเตียงรักษาผู้ป่วยโควิดได้ใน 2 วันหลังจับมือภาคีเครือข่าย

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันจะสามารถแก้ไขปัญหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีเตียงรักษาให้หมดไปภายใน 2 วัน โดยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อที่ยังหาเตียงไม่ได้กว่า 600 ราย ในระหว่างที่รอจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อสอบถามอาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากผู้ป่วยไปรับบริการตรวจหาเชื้อจากคลีนิก หรือรถเคลื่อนที่แล้วกลับไปรอฟังผลที่บ้าน เมื่อรู้ผลว่าติดเชื้อแล้วไม่มีการส่งต่อเข้ารักษา

หลังจากหารือร่วมกับภาคีเครือข่ายแล้วได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการเตียงรองรับวิกฤตโควิด-19 คือ 1.กรณีผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุกที่มีระดับความรุนแรงสีเขียว มอบหมายให้ กทม.รับเข้าไว้โรงพยาบาลสนาม 2.กรณีผู้ติดเชื้อจากระบบบริการทุกระดับความรุนแรง กรมการแพทย์ดำเนินการ โดยความรุนแรงระดับสีเขียวรับไว้ใน Hostpitel ส่วนความรุนแรงระดับสีเหลือง-แดง รับไว้ในโรงพยาบาล 3.โรงพยาบาลทุกสังกัดให้สำรอง ICU โดยกรมการแพทย์เป็นหน่วยบริหารจัดการ ซึ่งจะมีการบูรณการบุคลากร และ 4.ส่วนภูมิภาค & ปริมณฑล อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ศูนยืเอราวัณจะรับผิดชอบในการเคลื่อนย้ายและจัดส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลต่างๆ

“เรื่องที่จะให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวที่บ้านเป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า หากเกิดรอบสี่ที่มีผู้ติดเชื้อเยอะกว่านี้ เราเตรียมการเผื่อไว้เฉยๆ ยังไม่ได้ใช้ และคาดว่าจะไม่ได้ใช้ หากตัวเลขอยู่ที่หลักพัน มั่นใจว่ารอบนี้ผ่านวิกฤตไปได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลมีการเพิ่มเตียงอีก 500 เตียง รวมเป็น 1,656 เตียง ใช้งานแล้ว 1,275 เตียง ยังเหลือว่างอยู่ 381 เตียง นอกจากนี้ยังมีการจัดเตรียม รพ.สนาม และ Hostpitel อีกเป็นจำนวนมาก

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนของประเทศไทยไม่ได้ล่าช้า แต่เนื่องจากช่วงแรกมีปริมาณวัคซีนจำนวนจำกัด หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามฉีดไป 5 หมื่นโดส กัมพูชาฉีดไป 4 แสนโดส ยกเว้นอินโดนีเซียที่ร่วมมือกับจีนทดลองวัคซีนตั้งแต่เริ่มแรก

การที่ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบ เพราะประเทศไทยสามารถเจรจาซื้อโดยตรงกับผู้ผลิต ขณะที่โครงการโคแวกซ์มีปัญหาไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนดเพราะประเทศอินเดียที่เป็นผู้ผลิตระงับการส่งออก และการที่บริษัท สยามไบโอไซม์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ถือเป็นเรื่องความมั่นคงเรื่องวัคซีนของประเทศ

หลังจากที่มีการส่งมอบวัคซีนแผนหลักในเดือน มิ.ย.64 มีแผนกระจายการฉีดวัคซีนได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนที่มีการฉีดไปก่อนหน้านี้เป็นวัคซีนซิโนแวกช่วงฉุกเฉิน 2 ล้านโดส และการฉีดให้กับผุ้ที่อยู่ในพื้นที่พบการระบาดไม่ได้เสียเปล่า เพราะไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะติดเชื้อ ขณะเดียวกันหากฉีดให้คนที่ได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการก็จะเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนนี้แพร่กระจายในวงกว้างและรวดเร็ว โดยช่วงเวลาแค่ 3 สัปดาห์มีผู้ติดเชื้อแล้ว 14,851 ราย สูงเป็น 3 เท่าของจำนวนผู้ติดเชื้อในระลอกแรกที่มีระยะเวลา 11 เดือนครึ่ง ขณะที่การระบาดระลอกสองในช่วงปลายปี 63 มีผู้ติดเชื้อ 24,626 ราย สูงเป็น 6 เท่าของระลอกแรก

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top