นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 อนุมัติหลักการของร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ) ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการช่วยเหลือ ได้แก่
- (1) มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู)
- (2) มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้)
บัดนี้ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ ดังกล่าว ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 ในการนี้ ธปท. จึงได้ออกประกาศจำนวน 2 ฉบับ เพื่อกำหนดขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมโครงการ หลักการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยสถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอกู้เงินจาก ธปท. ตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ได้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ ธปท.ได้เตรียมความพร้อมกับสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถกระจายเม็ดเงินไปสู่ลูกหนี้ได้อย่างรวดเร็ว โดยขอให้สถาบันการเงินรับคำขอเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือจากลูกหนี้ได้ตั้งแต่ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ ธปท. และติดต่อสถาบันการเงินที่ใช้บริการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
นายรณดล กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูง และยังคงแพร่ระบาดเป็นวงกว้างนั้น ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบในด้านต่าง ๆ โดยพร้อมที่จะออกมาตรการช่วยเหลือที่จำเป็นเพิ่มเติมจากมาตรการฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้
นอกจากนี้ สำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหารือกับผู้ให้บริการทางการเงิน สมาคม ชมรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยผ่านมาตรการการให้ความช่วยเหลือ และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้อย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 64)
Tags: กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ผู้ประกอบการ, รณดล นุ่มนนท์, สินเชื่อ