น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวทางการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสเติบโตสูงว่า รัฐบาลได้ใช้แนวทาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”
โดยเป็นการขับเคลื่อนการทำงานอย่างบูรณาการทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ตั้งแต่การผลิตที่ได้มาตรฐาน สอดคล้องความต้องการผู้บริโภค มีประสิทธิภาพ และการจัดการการตลาดในตลาดต่างประเทศ ใช้ประโยชน์จากการค้าเสรีให้ได้มากที่สุด ซึ่งแนวโน้มปี 2564 พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว
ตัวเลขจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปตลาดโลกในช่วงเดือน ม.ค.–ก.พ.ปีนี้ ขยายตัว โดยกลุ่มผักผลไม้ยังขยายตัวมากที่สุด คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวประมาณ 1.9-2.9% สาขาปศุสัตว์ขยายตัว 1-2% สาขาประมงขยายตัว 0.1-1.1% สาขาบริการทางการเกษตรขยายตัว 0.2-1.2% และป่าไม้ขยายตัว 1-2%
น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเจาะลึกตลาดที่ประเทศไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับ 18 ประเทศ จากข้อตกลง 13 ฉบับ ในปี 2563 สินค้าเกษตรส่งออก 14,876 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับปี 2562 และคิดเป็น 71% ของการส่งออกสินค้าเกษตรไปทั่วโลก ด้วยประโยชน์จาก FTA ดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสภาเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกรกรและผู้ประกอบการเพื่อเร่งให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อตกลง FTA จะได้เพิ่มโอกาสในการส่งออก
อย่างไรก็ตาม นอกจากการหาตลาดแล้ว สิ่งที่จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคต่อสินค้าเกษตรไทย คือ มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย โดยในปีนี้ กระทรวงเกษตรฯ กำหนดแผนรับรองการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) 120,000 แปลง แบ่งเป็น ผลไม้ 6.5 หมื่นแปลง (ผลไม้หลัก เช่น ลำใย ทุเรียน มังคุด มะพร้าวอ่อน มะม่วง ซึ่งเป็นผลไม้ที่ต้องใช้การรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อการส่งออก)
พืชผัก 2.1 หมื่นแปลง และอื่นๆ 3.3 หมื่นแปลง เช่น กาแฟ ถั่วลิสง และสำหรับสินค้าปศุสัตว์และประมง กระทรวงฯจะเดินหน้าพัฒนาฟาร์มเลี้ยงทั่วประเทศให้ได้มาตรฐาน GAP และ GMP หรือมาตรฐานด้านการจัดการสุขลักษณะที่ดีในสถานประกอบการ รวมถึง HACCP ซึ่งเป็น เป็นระบบควบคุมคุณภาพการผลิตที่ใช้เป็นเงื่อนไขทางการค้าเพื่อส่งออกต่างประเทศ
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานและความก้าวหน้าการขับเคลื่อนงาน “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ประกอบด้วย ความคืบหน้าการจัดทำข้อมูลสนับสนุนนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) เพื่อใช้ในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกร ให้มีคุณภาพ มาตรฐานปลอดภัย และมีมูลค่าเพิ่ม ตรงกับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูง มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน และยกระดับให้เกษตรกรสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
ซึ่งมีแผนการดำเนินงานระยะ Quick win โดยจัดทำตารางรายงานสถานการณ์มันสำปะหลังแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และได้มีการเผยแพร่ฐานข้อมูลร่วม “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” สินค้ามันสำปะหลัง บนเว็บไซต์ www.คิดค้า.com / www.moc.go.th ของกระทรวงพาณิชย์ และเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ www.nabc.go.th ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้บริการข้อมูลทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และประชาชน
สำหรับตารางรายงานสถานการณ์สินค้าเกษตรจะเป็นการแสดงผล ประกอบด้วย 5 หน้าจอการแสดงผล ได้แก่ สรุปสถานการณ์สินค้าเกษตรของไทย ราคาสินค้าเกษตร สถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย โอกาสของการส่งออกสินค้าเกษตร และสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรของไทย ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการ Single Big Data เห็นชอบเลือกสินค้าทุเรียนเป็นสินค้านำร่องชนิดที่ 2 ต่อจากมันสำปะหลัง และจะตามด้วยข้าว ยาง ปาล์ม และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในลำดับต่อไป
ส่วนการจัดทำแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เป็นตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับซื้อขายสินค้าเกษตรในรูปแบบการค้าแบบ B2B (Business to Business) ซึ่งเป็นการซื้อขายปริมาณมากในแต่ละครั้ง โดยจะพัฒนาต่อยอดจากแพลตฟอร์ม Thaitrade.com ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
สำหรับการดำเนินการระยะนำร่องได้กำหนดกลุ่มเกษตรกรที่เป็นเป้าหมายในการดำเนินการ คือ กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ 152 แห่ง กลุ่มสหกรณ์ 40 แห่ง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 63 แห่ง และกำหนดประเภทสินค้า ได้แก่ ข้าว ไข่ไก่ เนื้อโคขุน ผลิตภัณฑ์จากโคนม ผัก (เช่น ผักสลัด กะหล่ำปลี ผักกาดขาว แครอท เห็ด) ผลไม้ (เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน กล้วยหอมทอง ลำไย ลิ้นจี่) กาแฟ ยางพารา (ผลิตภัณฑ์แปรรูป) ไม้ดอกไม้ประดับ สมุนไพรและเครื่องเทศ และแมลงเศรษฐกิจ (ผึ้ง จิ้งหรีด)
ขณะที่การบริหารจัดการผลไม้ กรณีสินค้าทุเรียนของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ซึ่งที่ประชุมได้รายงานแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2564 (จันทบุรี ระยอง ตราด) โดยมีการปรับสมดุลของอุปสงค์กับอุปทานให้สอดคล้องกัน ซึ่งจะมีการกระจายผลผลิตภายในประเทศ การแปรรูป และการส่งออก (ข้อมูลการส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศช่วงเดือน ม.ค.- 15 เม.ย.64 ที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้น 78,376.18 ตัน มูลค่า 9,135.9002 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำการป้องปรามทุเรียนอ่อน ให้มีมาตรการควบคุมการใช้ใบ GAP และป้องกันทุเรียนอ่อน รวมถึงมาตรการควบคุมการส่งออกทุเรียนปลอดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผลผลิตทุเรียน นอกจากนี้ ยังมุ่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและควบคุมคุณภาพผลผลิตทุเรียนส่งออกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 64)
Tags: FTA, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ข้อตกลงการค้าเสรี, ทองเปลว กองจันทร์, รัชดา ธนาดิเรก, ส่งออกสินค้าเกษตร, สินค้าเกษตร