กรมรางเพิ่มมาตรการป้องกันโควิด-19 พร้อมขอปชช.งด/ชะลอเดินทางลดเสี่ยงติดโรค

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า ได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางราง เรื่อง แนวทางปฏิบัติการเพื่อป้องกันและยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ได้มีข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย เพื่อป้องกันและยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ระลอกใหม่ได้ทันท่วงที นั้น เพื่อให้หน่วยงานที่ให้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบดำเนินการ ดังนี้

  1. แนวทางปฏิบัติ/มาตรการป้องกัน ให้เพิ่มความเข้มงวดสูงสุดในการกำกับและถือปฏิบัติมาตรการป้องกันแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ตามประกาศกรมการขนส่งทางรางได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ โดยขอความร่วมมือในการดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้
    • 1.1 ตั้งจุดสกัดหรือจุดคัดกรองผู้โดยสาร โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ตามมาตรการที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กำหนด และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางที่ไม่มีเหตุจำเป็น โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่อาจทำให้เสี่ยงหรือมีโอกาสติดโรค
    • 1.2 บริหารจัดการไม่ให้เกิดความหนาแน่นแออัดของผู้โดยสารภายในขบวนรถและภายในสถานี เพื่อให้ปฏิบัติมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลได้อย่างเคร่งครัด โดยให้มีการปฏิบัติมาตรการตามความเหมาะสม เช่น การดำเนินมาตรการ Group Release ภายในสถานี และการเพิ่มขบวนรถเสริมหรือเพิ่มความถี่การบริการในช่วงเวลาเร่งด่วน เป็นต้น
    • 1.3 กำกับดูแล ตรวจติดตาม และขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ได้แก่ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล (D – Distancing) สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และงดสนทนาขณะใช้บริการระบบขนส่งทางราง (M – Mask Wearing) ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง เมื่อเข้าและออกจากระบบ (H – Hand Washing) ตรวจวัดอุณหภูมิร่างการที่จุดคัดกรอง (T – Testing) และใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ (T – Thaichana) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค
    • 1.4 ขอความร่วมมือในการจำกัดการบริการเดินรถ โดยให้มีเส้นทางการบริการ ขบวน หรือความถี่เท่าที่จำเป็น ในช่วงเวลา 23.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการชะลอหรืองดการเดินทางที่ไม่มีเหตุจำเป็น โดยเฉพาะการเดินทางเข้าไป ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามมาตรการที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 กำหนด
  2. แนวทางปฏิบัติเมื่อพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ให้ดำเนินการ ดังนี้
    • 2.1 แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมงนับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อฯ เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนโรคและเข้ารับการรักษาทางการแพทย์หรือมาตรการด้านสาธารณสุขต่อไปโดยด่วน
    • 2.2 หยุดกิจกรรมหรือการให้บริการพื้นที่/อาคาร/สถานี ที่พบผู้ติดเชื้อฯ เพื่อทำความสะอาดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายในพื้นที่และจุดสัมผัสร่วม เช่น ราวจับ ราวบันได มือจับ ลูกบิดประตู ลิฟต์ และห้องน้ำ เป็นต้น
    • 2.3 ผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ร่วมงาน พบปะ หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อฯ ให้ดำเนินการตามมาตรการกักตนเอง (Self-Quarantine) ทันทีเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๔ วัน และไปพบแพทย์หรือสาธารณสุขพื้นที่ เพื่อทำการตรวจรักษา และสามารถกลับมาปฏิบัติงานตามปกติเมื่อกักตัวครบ 14 วัน โดยต้องมีผลการตรวจหาเชื้อฯ เป็นลบ
    • 2.4 ให้มีการจัดกลุ่มผู้ปฏิบัติงานเป็นกลุ่ม รอบ หรือกะ ที่มี Timeline ไม่เชื่อมโยงกัน เพื่อสามารถสลับสับเปลี่ยนกลุ่มผู้ปฏิบัติงานทั้งกลุ่มทดแทนกันได้หากเกิดกรณีพบผู้ติดเชื้อฯ และต้องมีการกักตนเอง (Self-Quarantine) เพื่อลดผลกระทบต่อประสิทธิภาพการให้บริการระบบขนส่งทางราง
    • 2.5 รายงานกรมการขนส่งทางรางทราบภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อฯ เพื่อรวบรวมรายงานกระทรวงคมนาคมต่อไป

ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ระลอกใหม่จะคลี่คลายหรือมีประกาศเปลี่ยนแปลง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top