นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางการแก้ปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วม และน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งเป็นการหารือถึงข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วม และน้ำแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและรอบอ่าวไทยนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือใน 4 ประเด็นหลัก คือ
- การจัดการอุปทานด้านน้ำเพิ่มเติม ทั้งแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิม หรือโครงการแหล่งน้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้มีฐานข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในการผลักดันน้ำเค็มและบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง
- การเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้อุปสงค์ด้านน้ำ ลดการสูญเสียน้ำระหว่างทางในแม่น้ำ
- การย้ายจุดสูบเพื่อผลิตน้ำประปาขึ้นไปอยู่ในจุดเหนือน้ำที่สูงขึ้น
- พิจารณารูปแบบระบบควบคุมน้ำเค็มบริเวณปากแม่น้ำที่เคยมีการศึกษาไว้เดิม หรือเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เป็นต้น
โดยระยะแรกของโรดแมปการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ที่ประชุมได้รวบรวมข้อคิดเห็น ข้อมูลประสบการณ์ การวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาการรุกตัวน้ำเค็ม น้ำท่วม น้ำแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จากทุกหน่วยงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้ได้ความชัดเจนถึงผลกระทบในแต่ละลำน้ำที่มีความแตกต่างกัน การกำหนดจุดสถานีวัดน้ำเค็มที่จะเป็นสถานีหลักในการติดตามเฝ้าระวังที่ต้องพิสูจน์ได้ว่าค่าความเค็มที่เหมาะสมในแต่ละลุ่มน้ำ
โดยต้องคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ ระบบนิเวศน์ในแต่ละลำน้ำประกอบกันด้วย ก่อนนำมาใช้เป็นข้อมูลคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ระบุประเด็นสำคัญ และกรอบแนวทางการในการศึกษา และร่างเงื่อนไขและขอบเขตการศึกษา (TOR) การแก้ไขปัญหาการรุกตัวน้ำเค็ม น้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่าง และลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง) ให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 90 วัน หรือ ภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ เพื่อสรุปรายงานต่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐนตรี ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความเห็นชอบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
“การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกในแม่น้ำ 4 สายหลัก เป็นประเด็นปัญหาที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงและให้ความสำคัญ เพื่อให้เกิดแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมไม่เกิดปัญหาซ้ำซากทุกปี เนื่องจากส่งผลกระทบกับประชาชนและภาคเกษตรกรรมในแต่ละปีต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังกระทบกับปริมาณน้ำต้นทุนแหล่งน้ำที่ต้องมาใช้ผลักดันเป็นจำนวนมาก ซึ่งตั้งแต่ 1 พ.ย.63 – 7 เม.ย.64 มีการระบายน้ำเพื่อการผลักดันน้ำเค็มรวมแล้วทั้งสิ้น 2975 ล้าน ลบ.ม. ใกล้เคียงกับปี 58/59 ที่เป็นปีน้ำน้อยที่มีการระบายน้ำมาประมาณ 2,934 ล้าน ลบ.ม. แต่ก็ยังน้อยกว่าปี 2562/63 ที่ผ่านมาที่ใช้ปริมาณน้ำผลักดันถึง 3,690 ล้าน ลบ.”นายสมเกียรติ กล่าว
ดังนั้น รูปแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่คณะอนุกรรมการฯ จะนำเสนอต่อ กนช. จะเน้นในเชิงบริหารจัดการก่อน โดยเฉพาะการสร้างสมดุลระหว่างน้ำต้นทุนกับน้ำต้องการใช้ ที่ต้องทราบข้อมูลความต้องการใช้น้ำของแต่ละภาคส่วนที่ชัดเจน การลดการสูญเสียของน้ำระหว่างทาง เป็นต้น
ทั้งนี้ แนวทางการทำงานเพื่อให้ได้ข้อมูลมาวิเคราะห์กรอบแนวทางที่ชัดเจน ที่ประชุมได้มีการกำหนดประเด็นหลักและมอบหมายแบ่งกลุ่มหน่วยงานรับผิดชอบสังเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ร่วมกัน อาทิ ด้านสถานการณ์น้ำภาพรวม ทรัพยากรน้ำทางทะเลและชายฝั่ง ทรัพยากรผิวดินและบาดาล สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ กฎหมาย การคมนาคมทางน้ำ เป็นต้น เพื่อนำมาหารือร่วมกันในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้ง หากในระยะสั้น ระยะกลางสามารถดำเนินการได้ทันที
สำหรับมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างต้องมีการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การยอมรับของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน และรอบคอบ รวมถึงหากมีข้อมูลเชิงวิชาการพิสูจน์ได้ว่าระดับทะเลที่จะเพิ่มสูงขึ้นระยะ 20-50 ปีข้างหน้า การบริหารจัดการน้ำอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ก็ต้องพิจารณามาตรการที่ต้องใช้สิ่งก่อสร้างในการปิดกั้นน้ำเค็ม ทั้งจากข้อมูลเดิมที่เคยศึกษาไว้ หรือเทคโนโลยีที่ต่างประเทศประสบความสำเร็จมาพิจารณาประกอบกัน เพื่อเป็นกรอบแนวทางในนโยบายการแก้ไขปัญหาระยะยาวสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในระยะต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 เม.ย. 64)
Tags: ทรัพยากรน้ำ, น้ำท่วม, น้ำประปา, น้ำเค็ม, สทนช., สมเกียรติ ประจำวงษ์, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ