นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกสังกัดในเรื่องการเตรียมจัดหาเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นในส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยได้มีการจัดเตรียมไว้ราว 6,500 เตียง ปัจจุบันมียอดครองเตียงไปแล้วกว่า 3,700 เตียง ซึ่งในส่วนนี้จะเก็บไว้สำหรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการมาก และมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการช่วยชีวิต
ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ขณะนี้ยังไม่มีลูกค้าเข้าพัก มาให้บริการเปิดเป็น Hospitel เพื่อช่วยในการดูแลผู้ป่วยโควิด อีกทั้งเป็นการช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลหลัก ซึ่งยืนยันว่ามีจำนวนเตียงที่จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ
“ผู้ป่วยที่อยู่ใน hospitel จะเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในรพ.หลักมาแล้ว 3-5 วัน และอาการไม่แย่ลง ก็สามารถย้ายมาอยู่ที่ hospitel ได้ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม ความเป็นมิตรต่อชุมชน และการจัดบริการทางการแพทย์ไว้รองรับ” นพ.ธเรศกล่าว
โดยล่าสุด มีผู้ประกอบการเอกชนมาขอขึ้นทะเบียนเพื่อเป็น Hospitel ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมแล้ว 23 แห่ง คิดเป็นจำนวนเตียง 4,900 เตียง รับผู้ป่วยไปแล้วประมาณ 2,000 เตียง ซึ่งเป็นทางเลือกสำคัญในการช่วยดูแลผู้ป่วยคู่ขนานไปกับ รพ.หลัก และ รพ.สนาม โดยในเร็วๆ นี้จะมีการจัดหาเตียงจาก Hospitel เพิ่มอีก 5,000-7,000 เตียง และเชื่อว่าจะเพียงพอสำหรับการรองรับผู้ป่วยใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ประเมินไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นราว 400-500 คน/วัน
นพ.ธเรศ กล่าวด้วยว่า ผู้ป่วยที่เข้าไปอยู่ใน Hospitel นี้จะเป็นผู้ป่วยที่เข้าเงื่อนไขข้อกำหนด คือ ต้องเป็นผู้ใหญ่อายุไม่เกิน 50 ปี ไม่เป็นสตรีตั้งครรภ์ ไม่มีโรคประจำตัว และไม่มีผล x-ray ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งหากในระหว่างที่ผู้ป่วยอยู่ใน Hospitel แล้วมีอาการรุนแรงขึ้น จะถูกส่งตัวเข้าไปรับการรักษาใน รพ.หลักที่จับคู่กับ Hospitel นั้นทันที
“ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโควิดของ Hospitel เนื่องจากเรามีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นไว้รองรับ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความเข้มข้นของระดับออกซิเจนในเลือด เครื่อง x-ray เคลื่อนที่ ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น จะย้ายกลับไปยัง รพ.พี่เลี้ยงของ Hospitel ขอให้มั่นใจได้”
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกล่าว
พร้อมย้ำว่า ค่าใช้จ่ายในระหว่างการอยู่ใน Hospitel นี้จะไม่เป็นภาระของประชาชน ซึ่งตามเจตนารมย์ของภาครัฐให้ประชาชนสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้จากการทำประกันสุขภาพ (ถ้ามี) รวมทั้งมีการรองรับตามสิทธิที่อยู่ในระบบหลักประกันต่างๆ ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนที่สนใจจะสมัครเข้ามาร่วมเป็น Hospitel ขณะนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้เปิดรับลงทะเบียนทางระบบออนไลน์แล้ว
นพ.ธเรศ ยังกล่าวถึงกรณีมีการร้องเรียนจากประชาชนว่าไปรับการตรวจหาเชื้อโควิดจากคลินิกเอกชน ซึ่งเมื่อผลตรวจพบติดเชื้อ แต่คลินิกดังกล่าวไม่มีการส่งต่อหรือประสานหาเตียงให้กับผู้ป่วยว่า สบส.ได้ออกประกาศให้คลินิกและ รพ.เอกชนทุกแห่งจะต้องประสาน หรือส่งต่อในการจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วยที่ได้ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามกฎหมาย
ส่วนกรณีที่สถานพยาบาลเอกชนปฏิเสธไม่รับการรักษาผู้ป่วยโควิดนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศอยู่แล้วว่าโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นโรคติดต่ออันตรายที่สถานพยาบาลทุกแห่งจะต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยให้ได้รับความปลอดภัย หากสถานพยาบาลใดไม่ปฏิบัติตาม ก็จะถือว่ามีความผิดทางกฎหมายเช่นกัน ซึ่งล่าสุดได้รับแจ้งข้อมูลมาว่ามี รพ.แห่งหนึ่งย่านบางนา ไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ และกระทรวงฯ กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาลงโทษตามขั้นตอนต่อไป
นอกจากนี้ สำหรับบุคคลหรือเจ้าของสถานที่ใดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดแล้วไม่แจ้งให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทราบภายใน 3 ชม. จะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนผู้ป่วยเองที่ได้รับแจ้งผลการตรวจว่าติดเชื้อโควิดแล้วแต่ไม่ยอมเข้ารับการรักษา จะถือว่าเป็นความผิดโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท ส่วนกรณีผู้ที่ปกปิดข้อมูล หรือแจ้งข้อมูลเท็จกับเจ้าหน้าที่สอบสวนโรค ก็จะมีโทษปรับเช่นกัน
“ขอฝากให้ช่วยกันให้ข้อมูลที่เป็นจริง ซึ่งจะช่วยทำให้การควบคุมโรคสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น ถ้าทุกฝ่ายช่วยกัน ก็ไม่จำเป็นต้องบังคับใช้กลไกทางกฎหมาย”
นพ.ธเรศกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 เม.ย. 64)
Tags: COVID-19, Hospitel, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, กระทรวงสาธารณสุข, ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์, สบส., โควิด-19, โรงพยาบาล