นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2564 (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันสามของการรณรงค์ “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด” เกิดอุบัติเหตุ 388 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 54 ราย ผู้บาดเจ็บ 373 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 30.15% ดื่มแล้วขับ 28.35% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 87.63% ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 58.25% ถนนกรมทางหลวง 36.08% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 33.51% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. 30.15% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป 29.74% ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,896 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 59,079 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 343,703 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 65,929 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 18,210 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 16,553 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (22 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สกลนคร สุพรรณบุรี (จังหวัดละ 4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (21 คน)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (10-12 เม.ย.64) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,090 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 110 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 1,099 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 25 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ นครศรีธรรมราช (49 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี (6 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (52 คน)
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดี ปภ.ในฐานะเลขานุการ ศปถ. กล่าวว่า ในวันนี้คาดว่าจะมีการใช้รถใช้ถนนบนเส้นทางสายรอง โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอำเภอ อบต.และหมู่บ้านมากขึ้น จึงได้ประสานจังหวัดใช้กลไกในระดับพื้นที่ โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน จิตอาสาเน้นการดูแลและป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน โดยเพิ่มความเข้มข้นในการจัดตั้งด่านชุมชนบริเวณจุดเสี่ยงที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เน้นการเรียกตรวจยานพาหนะและประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะการกวดขันพฤติกรรมการดื่มแล้วขับ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ และการใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงบังคับใช้กฎหมายจราจรและกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี ท้ายนี้ ขอฝากเตือนประชาชนใช้รถใช้ถนนด้วยความปลอดภัย อีกทั้งร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ด้วยการรด ริน พรมน้ำ และไม่สาดน้ำใส่กัน โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข (DMHTT) เพื่อให้ทุกการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีความปลอดภัยและห่างไกลจากโควิด-19
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 เม.ย. 64)
Tags: ศปถ., อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์, อุบัติเหตุ, อุบัติเหตุทางถนน