ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวดีขึ้นจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ และการกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่ช่วยผ่อนคลายข้อจำกัดในการใช้ชีวิตในหลายประเทศจนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับมุมมองเศรษฐกิจโลกปี 2564 เติบโตดีขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 6.0% ในเดือน เม.ย.64 จากเดิม (ม.ค.64) ที่คาดว่าจะเติบโต 5.5%
แต่ท่ามกลางสัญญาณบวกดังกล่าว กลับสวนทางกับภาพเศรษฐกิจเมียนมาที่กำลังเผชิญมรสุมทางการเมืองในประเทศอย่างหนัก อีกทั้งภาพลักษณ์ของเมียนมาในสายตาชาติตะวันตกก็กำลังมีบทบาทลดน้อยลงจากความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของสหรัฐฯ ได้ประกาศระงับความตกลงการค้าและการลงทุนกับเมียนมาที่มีมาตั้งแต่ปี 2556 (Trade and Investment Framework Agreement: TIFA) ในวันที่ 30 มี.ค.64 อันมีผลให้เมียนมาต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ ไปพร้อมกัน สะท้อนแรงกดดันจากต่างประเทศที่เมียนมาต้องแบกรับ และมีความเสี่ยงที่สหภาพยุโรปจะดำเนินการแบบเดียวกันในระยะข้างหน้า โดยตัดสิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms (EBA) ที่ให้แก่เมียนมา
เพียงระยะเวลาแค่สองเดือนนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 เกิดการแสดงอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement : CDM) เป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงเรื่อยมา จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 64 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเมียนมาเกิดภาวะชะงักงันต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการเงินยังคงเผชิญกับข้อจำกัดในด้านมูลค่าการทำธุรกรรมและการให้บริการ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกดดันการบริโภคโดยรวม นอกจากนี้ ภาคการผลิตและการส่งออกของเมียนมายังถูกซ้ำเติมจากการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP ที่ให้แก่เมียนมา แม้ว่าเมียนมาจะพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ เพียง 5% มีสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ราว 1 ใน 3 ใช้สิทธิ GSP ในการทำตลาด แต่สิ่งที่ตามมาคือความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในเมียนมาถูกบั่นทอนลง อีกทั้งมีความเสี่ยงที่นานาชาติจะเพิ่มแรงกดดันด้านต่างๆ กับเมียนมา เป็นอุปสรรค์ต่อการทำธุรกิจในอนาคต คงยากที่จะมีการขยายการลงทุนใหม่เพิ่มเติมในระยะสั้น ขณะที่นักลงทุนเดิมบางส่วนระงับการดำเนินธุรกิจในเมียนมาไปแล้ว
เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมียนมาทุกตัวอยู่ในภาวะชะลอตัวมากกว่าที่เคยคาดไว้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาปี 64 อาจจะหดตัวลึกขึ้นมาอยู่ที่ราว -8.5% (กรอบประมาณการ -9.8% ถึง -7.2%) โดยขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองในเมียนมาเป็นหลัก กรณีการประท้วงในประเทศไม่ขยายวงกว้างกว่านี้ และทางการเมียนมาสามารถควบคุมสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองภายในช่วงครึ่งหลังของปีให้ทยอยดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกได้ ทำให้เศรษฐกิจเมียนมาทั้งปี 64 คาดว่าจะโน้มเอียงเข้าสู่กรอบบนของประมาณการที่หดตัว -7.2%
โดยภาคการผลิตและการส่งออก น่าจะเป็นภาคส่วนที่ฟื้นตัวได้ก่อนจากอานิสงส์ของความต้องการสินค้าตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐาน และภาคการเกษตร ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 53% ของยอดคงค้างการลงทุนตรงน่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวตามมา อย่างไรก็ดี หากเป็นในกรณีที่ความขัดแย้งทางการเมืองเมียนมายังคงรุนแรงเช่นนี้ลากยาวตลอดปี จะส่งผลให้เศรษฐกิจอาจทรุดตัวเข้าใกล้กรอบล่างที่หดตัว -9.8% อันเป็นผลจากการชะงักงันของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่ลากยาวออกไป ตลอดจนแรงฉุดของการลงทุนที่น่าจะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
ภาพเศรษฐกิจเมียนมาตั้งแต่เริ่มปี 64 เรียกได้ว่าเผชิญความความท้าทายอย่างมาก ทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดและปัจจัยความไม่สงบในประเทศ ส่งผลให้การส่งออกจากไทยไปเมียนมาผ่านชายแดนในเดือน ก.พ.64 กลับมาหดตัวสูง -21.4% (YoY) ส่วนหนึ่งเป็นภาพต่อเนื่องของสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มลุกลามอีกครั้ง และบางส่วนก็เป็นผลพวงจากความไม่สงบในประเทศ ทำให้สินค้าส่วนใหญ่เริ่มหดตัวชัดเจนมากขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งสินค้าที่ส่งไปสนับสนุนภาคการผลิตและการลงทุนในประเทศที่ดูจะหดตัวค่อนข้างมาก อาทิ เหล็ก เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นและไม่จำเป็นก็ปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน ตอกย้ำการอ่อนแอของกำลังซื้อในเมียนมาจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ เช่น เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ความไม่สงบในเมียนมาอาจส่งผลต่อเนื่องมายังช่องทางการค้าบริเวณพรมแดนเป็นครั้งคราว แต่ไม่กระทบการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากนัก เพราะเมียนมาต้องพึ่งสินค้าไทยหลายชนิดท่ามกลางสภาวะที่ทั่วโลกเริ่มตีตัวออกห่างเมียนมา ขณะเดียวกันความน่ากังวลในความไม่สงบในช่วงแรก ทำให้มีการเร่งกักตุนสินค้าจากไทยค่อนข้างมากในบางพื้นที่ แต่ในช่วงที่เหลือของปีด้วยกำลังซื้อและภาพเศรษฐกิจที่จะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ คงฉุดให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาปี 2564 หดตัวลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ที่ -6.0% โดยมีมูลค่าการส่งออกที่ 81,890 ล้านบาท (กรอบประมาณการหดตัวที่ -8.0% หากเศรษฐกิจเมียนมาทรุดตัวตลอดปีจะหดตัว -2.9% หากครึ่งหลังเมียนมาสามารถควบคุมสถานการณ์ในประเทศให้กลับมาดีขึ้นได้)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ ตัวเลขเศรษฐกิจเมียนมาปี 2564
ตัวเลขเศรษฐกิจ | ปี 2563 | ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปี 2564 | ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปี 2564 |
---|---|---|---|
คาดการณ์ปี 2564 | กรอบคาดการณ์ | ||
การเติบโตของเศรษฐกิจเมียนมา | 3.2%* | -8.50% | -9.8% ถึง -7.2% |
การส่งออกของเมียนมาไปตลาดโลก | -2.6%** | -18.00% | -22.0% ถึง -15.0% |
การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมา (มูลค่า: ล้านบาท) | -12.4%(87,090) | -6.0%(81,890) | -8.0% ถึง -2.9%(80,100-84,600) |
การนำเข้าชายแดนไทยจากเมียนมา (มูลค่า: ล้านบาท) | -17.2%(77,688) | -9.4%(70,369) | -10.4% ถึง -5.9%(69,600-73,400) |
ที่มา: ADB, IMF, กรมการค้าต่างประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 เม.ย. 64)
Tags: กสิกรไทย, การส่งออกไทย, รัฐประหาร, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เมียนมา, เศรษฐกิจเมียนมา, เศรษฐกิจโลก