นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม พร้อมด้วย ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค รับมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวก จำนวน 1 ล้านโดส จากประเทศจีน ที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขโดยองค์การเภสัชกรรมดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เร่งด่วน จำนวน 2 ล้านโดส โดยมีการเจรจาจัดซื้อจากบริษัท ซิโนแวก ไลฟ์ ซายน์ จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน (Sinovac Life Sciences Co.,Ltd., People’s Republic of China) โดยวัคซีนล็อตแรก ได้จัดส่งให้องค์การเภสัชกรรมไปแล้วเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 2 แสนโดส ล็อตที่2 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 จำนวน 8 แสนโดส และในวันนี้ได้มีการส่งมอบล็อตที่ 3 อีกจำนวน 1 ล้านโดส
โดยวัคซีนดังกล่าวมีการจัดส่งด้วยกล่องที่มีการควบคุมอุณหภูมิ (Passive cold carton) ระหว่าง 2-8 องศา ตลอดเวลา ที่สามารถเก็บอุณหภูมิได้นานถึง 96 ชั่วโมง วัคซีนทั้งหมดนี้จะขนส่งไปจัดเก็บยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศา ด้วยเช่นกัน ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด จากนั้นจะดำเนินการตรวจรับและส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และเอกสารต่างๆ อีกครั้ง และเมื่อผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอนแล้ว จะส่งให้กรมควบคุมโรคตรวจรับวัคซีนและกระจายไปยังหน่วยบริการ และสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามแผนที่กำหนด โดยวัคซีนนี้จะฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ที่มีอายุ 18-59 ปี คนละ 2 โดส
สำหรับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวก จากประเทศจีนนั้น ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนจากบริษัทซิโนแวกไปแล้ว ประมาณ 200 ล้านโดส (ข้อมูล ณ วันที่ 2 เมษายน 2564) อาทิ ประเทศจีน สิงคโปร์ บราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ บรูไน ไทย เป็นต้น และวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวก ประเทศจีน ยังติด 1 ใน 10 อันดับผู้ผลิตของประเทศในโลกที่ได้รับการจองวัคซีนโควิด-19 มากที่สุด โดยมีการจองที่ 367 ล้านโดส(ข้อมูล ณ วันที่ 7 เมษายน 2564)
นพ.วิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า ประมาณปลายเดือนเมษายนนี้จะมีการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวกจากประเทศจีนอีก จำนวน 5 แสนโดส โดยเป็นในส่วนที่องค์การเภสัชกรรมได้สั่งซื้อเพิ่มเติมไว้ โดยวัคซีนซิโนแวค นี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานบริหารจัดการวัคซีนโควิด -19 ของประเทศไทยที่เป็นไปตามแผนงานกระทรวงสาธารณสุขที่วางไว้อย่างรัดกุมและเป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต ปกป้องระบบสุขภาพ ของประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินต่อไป
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมมีข้อสั่งการว่าเมื่อดำเนินการตามขั้นตอนตามมาตรฐานต่างๆ แล้ว ขอให้ดำเนินการกระจายวัคซีนไปยังหน่วยบริการและสถานพยาบาลและดำเนินการฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้ได้ตามแผน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนกลุ่มต่างๆโดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงจากการปฏิบัติหน้าที่ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง
ในส่วนของสถานการณ์การให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 9 เม.ย. 2564 มีวัคซีนที่จัดสรรไปยังหน่วยบริการและสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,038,256 โดส แยกเป็นวัคซีนของซิโนแวก 952,205 โดส ของแอสตร้าเซนเนก้า 86,060 โดส
มีผู้ได้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ.-9 เม.ย. 2564 ทั้งหมด 537,380 โดสใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ แยกเป็น
- ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 470,301 ราย เป็นวัคซีนของซิโนแวก 417,076 ราย แอสตร้าเซนเนก้า 53,225 ราย ในจำนวนนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 195,483 ราย เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยย 47,219 ราย ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 25,563 ราย ผู้มีโรคประจำตัว 21,501 ราย ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 180,535 ราย
- ผู้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 67,079 ราย ทั้งหมดเป็นวัคซีนซิโนแวก ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 32,368 ราย เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 6,138 ราย ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป 10 ราย ผู้มีโรคประจำตัว 4,331 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 24,232 ราย
จังหวัดที่มีการให้บริการวัคซีนโควิด-19 สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (113,367 ราย) สมุทรสาคร (113,111 ราย) ภูเก็ต (76,704 ราย) สุราษฎร์ธานี (26,735 ราย) ตาก (24,030 ราย) สมุทรปราการ (23,646 ราย) นนทบุรี (21,621 ราย) ชลบุรี (14,711 ราย) ปทุมธานี(14,184 ราย) และระยอง (9,288 ราย)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 64)
Tags: COVID-19, ซิโนแวก, วัคซีนต้านโควิด-19, วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์, โควิด-19