จับตา Q2/64 ใกล้ชิดก่อนปรับมุมมอง
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยไตรมาสแรกของปี 64 มีแนวโน้มหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศ ในขณะที่ต้นปีนี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบใหม่มาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.63 จึงทำให้คาดกว่า GDP จะออกมาติดลบอย่างแน่นอน ทั้งเมื่อเทียบเป็นรายปี (YoY) และเทียบรายไตรมาส (QoQ)
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/64 นั้น ยังต้องจับตาดูพัฒนาการการแพร่ระบาดของโควิดอย่างใกล้ชิด รวมถึงมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ ที่จะออกมาของภาครัฐ และการปรับตัวของภาคธุรกิจ เอกชน และประชาชน ซึ่ง ธปท.จะมีการ update มุมมองเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี จากล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ขยายตัวได้ 3% นั้น ยังไม่รวมผลกระทบจากการระบาดรอบล่าสุดในประเทศจากคลัสเตอร์ของสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ
น.ส.ชญาวดี กล่าวในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.64 ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เหลือโต 3.0% จากเดิม 3.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอลง จากผลของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงต้นปี 64 และการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ช้าไปกว่าที่คาดไว้ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้จะเหลือเพียง 3 ล้านคน จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปลายปี 63 ที่ 5.5 ล้านคน
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 64 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 ที่ระดับ 1.2% อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสแรก คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังติดลบเนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในเรื่องการสนับสนุนค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้สิ้นสุดในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา จึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้ ถ้ารัฐบาลไม่มีการต่ออายุมาตรการช่วยค่าครองชีพดังกล่าวอีก
“ถ้าไม่มีการต่อมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ ก็จะเห็นเงินเฟ้อเด้งขึ้นไปในไตรมาส 2 แต่ไม่ใช่เป็นสัญญาณของเงินเฟ้อที่สูงในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว แต่เป็นผลทางด้านเทคนิค จากฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน”
น.ส.ชญาวดีระบุ
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ไว้ในช่วงปลายเดือนมี.ค.64 (ก่อนจะเกิดการระบาดในคลัสเตอร์สถานบันเทิงในกรุงเทพฯ ล่าสุด) มองว่าแม้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ แต่มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่รวดเร็วและตรงจุด รวมถึงมาตรการควบคุมการระบาดที่ไม่เข้มงวดเท่าครั้งก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้
นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน โดยประเมินว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ 10% จากเดิมคาดไว้ที่ 5.7% ส่วนการนำเข้าขยายตัวได้ 15.2% จากเดิมคาด 7.7% พร้อมมองว่ากลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกได้ดีในปีนี้ คือ สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ตลอดจนเครื่องจักร ยานยนต์ เป็นต้น
ส่วนสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบ คือ ทองคำ เนื่องจากราคาลดลงจากปีก่อน จึงทำให้มีการส่งออกน้อยลง สินค้าอัญมณี และสิ่งทอ ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ ทำให้การเข้ามาดูตัวอย่างสินค้าและการสั่งซื้อทำได้น้อยลง
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่ทั่วถึง โดยรายรับภาคการท่องเที่ยวยังคงถูกกดดันจากนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทย และประเทศต้นทางที่ผ่อนคลายค่อนข้างช้า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ และการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานมีความส้าคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการทางการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรฐ ตามการปรับลดประมาณการจานวนนักท่องเที่ยว ข้อสมมติราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และการนำเข้าทองคำสุทธิที่เพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 เดือนแรกของปี 64
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ประมาณการเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่ากรณีฐาน โดยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องประสิทธิผลของวัคซีน การกลายพันธุ์ของไวรัส และแนวโน้มการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ได้จัดทำ Scenario ที่ต่างจากกรณีฐานไว้ 2 กรณีดังนี้
1.กรณีเลวร้าย (Worse case) ประเทศไทยมีการระบาดระลอก 3 ในช่วงครึ่งปีหลัง, วัคซีนยังมีประสิทธิภาพ แต่การฉีดในไทยล่าช้าออกไปจากเดิม, การเปิดประเทศเลื่อนไปในปี 65
2.กรณีเลวร้ายสุด (Worst case) ไวรัสกลายพันธุ์รุนแรงจนวัคซีนปัจจุบันใช้ไม่ได้ผล ต้องพัฒนาวัคซีนใหม่, เกิดการระบาดทั่วโลกอีกครั้งและกระทบต่อ Global supply chain, การเปิดประเทศจะเลื่อนไปปี 66
อย่างไรก็ดี กรณีฐานดังกล่าว อาจจะยังไม่สามารถนำมาใช้กับเหตุการณ์ในขณะนี้ได้ เพราะต้องรอผลประเมินผลสถานการณ์ ตลอดจนมาตรการต่างๆ อย่างรอบคอบอีกครั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 64)
Tags: GDP, ชญาวดี ชัยอนันต์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., เศรษฐกิจไทย