นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ปิดกั้นภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนโควิด ในทางกลับกันต้องการจะเชิญชวนให้ภาคเอกชนมาขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าวัคซีนโควิด ซึ่งล่าสุด ยังมีบริษัทเอกชนที่มายื่นเอกสารเพื่อขอขึ้นทะเบียนเพียง 4 รายเท่านั้น โดยได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าวัคซีนโควิด-19 แล้ว 3 ราย คือ
- วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า นำเข้าโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย
- วัคซีนซิโนแวก นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เนื่องจากบริษัทไม่มีตัวแทนในประเทศไทย
- วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอนห์สัน นำเข้าโดยบริษัทแจนเซ่น ซีแลก จำกัด
ส่วนรายที่ 4 คือ วัคซีนบารัต ซึ่งบริษัทไบโอเจนเนอร์เทค มายื่นขอขึ้นทะเบียนไว้ แต่เอกสารยังไม่ครบถ้วนจากการทดลองในมนุษย์ เฟส 3
“และในอีก 10 รายก็มีกลุ่มของโรงพยาบาลเอกชนด้วย ที่บอกว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีนแล้ว แต่ยังไม่สามารถเอาเอกสารมาขึ้นทะเบียนได้ ชัดเจนว่าเราไม่ได้ปิดกั้น แต่เห็นว่าท่านไม่ได้ถูกแต่งตั้งเป็นตัวแทนของบริษัทผู้ผลิต ณ ประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ” นพ.ไพศาลกล่าว
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินจำเป็นต้องใช้วัคซีนเร่งด่วนเช่นนี้ อย.ได้แจ้งแล้วว่าเมื่อเอกสารครบถ้วน ภายใน 30 วัน จะสามารถให้การอนุมัติได้ทันที แต่ไม่ได้ข้ามขั้นตอนเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของวัคซีนตามมาตรฐานสากลที่เป็นหัวใจสำคัญแต่อย่างใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 64)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, คณะกรรมการอาหารและยา, จอห์นสัน แอนด์ จอนห์สัน, ซิโนแวก, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, วัคซีนบารัต, องค์การเภสัชกรรม, อย., แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19, โรงพยาบาลเอกชน, ไพศาล ดั่นคุ้ม