รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.) เสนอ โดยชื่อในการรณรงค์ว่า “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด” มุ่งเน้นการบริหารจัดการในลักษณะพื้นที่เป็นตัวตั้งควบคู่กับการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19)
โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเคร่งครัด ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกและความตระหนักด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชน
ทั้งนี้ได้กำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่สำคัญดังนี้คือ จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บลดลงไม่น้อยกว่า 5% เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีในพฤติกรรมเสี่ยงหลัก เช่น ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัยและไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5% เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี
สำหรับมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่
1.ด้านการบริหารจัดการ เช่น จัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ระดับส่วนกลาง จังหวัด กรุงเทพมหานคร อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำประชาคมชุมชนหรือหมู่บ้าน จัดตั้งด่านชุมชน รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวอย่างระมัดระวัง
2.ลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม เช่น สำรวจและตรวจสอบลักษณะกายภาพของถนน จุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและจุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้มีความปลอดภัย กำหนดมาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟให้มีความปลอดภัยในการสัญจร
3.ลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ เช่น กำกับดูแล ควบคุม รถโดยสารสาธารณะ รถโดยสารไม่ประจำทาง พนักงานขับรถโดยสาร และพนักงานประจำรถให้ถือปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย อย่างเคร่งครัด ขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกหยุดประกอบกิจการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เข้มงวดกับรถตู้ส่วนบุคคลหรือรถเช่าให้มีมาตรฐานความปลอดภัย
4.ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เช่น การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ การเสพยาเสพติดหรือของมึนเมา ขับรถย้อนศร และดำเนินการตามมาตรการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น
5.ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ เช่น จัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จัดเตรียมความพร้อมของหน่วยกู้ชีพและกู้ภัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 64)
Tags: ครม., ศปถ., ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน, อุบัติเหตุ, เทศกาลสงกรานต์