นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 10-15 เม.ย.64 ซึ่งเป็นวันหยุดยาว 6 วัน ในส่วนของกรุงเทพมหานครนั้น ได้มีนโยบายเรื่อง “สงกรานต์ กทม. ปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” โดยให้ทุกสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวด กำกับ ดูแลสงกรานต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีความปลอดภัย โดยปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ประกอบกับปัจจุบันมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร สำนักอนามัย จึงได้กำหนดแนวทางควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2564 กรุงเทพมหานคร ซึ่งสอดคล้องกับมติที่ประชุมของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อเป็นการป้องกันลดผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และลดอุบัติเหตุทางถนน (Free Alcohol Free Covid-19) โดยบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน
สำหรับแนวทางควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ดังกล่าว ประกอบด้วยมาตรการหลัก 3 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการขอความร่วมมือ ส่งเสริมการจัดกิจกรรมสงกรานต์ให้เป็นไปตามประเพณีวัฒนธรรมไทย โดยเป็นพื้นที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมกับรณรงค์ประชาสัมพันธ์แนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2564 เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้แนวคิดรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” รวมทั้งประชาสัมพันธ์เพื่อการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. มาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมาย เน้นดำเนินการอย่างเข้มงวดใน 3 มาตรา คือ มาตรา 29 ห้ามขายให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มาตรา 30 ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะการลด แลก แจก แถม ให้ แลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่น รวมถึงการเสนอสิทธิการรับชมการแสดง การชิงโชค ชิงรางวัล และมาตรา 32 ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ดื่ม
ในส่วนของการอนุญาตการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กำหนดเงื่อนไขให้ผู้จัดงาน หรือผู้ขออนุญาต จะต้องเป็นกิจกรรมสงกรานต์ตามประเพณีไทย มีมาตรการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และยึดหลักแนวทางเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19)
3. มาตรการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น สถานีตำรวจนครบาล สรรพสามิตในพื้นที่ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเขต (ศปถ.เขต) 50 เขต เป็นต้น ให้เฝ้าระวังการโฆษณา การขาย และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดกิจกรรมสงกรานต์ตามประเพณีไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 64)
Tags: COVID-19, ชวินทร์ ศิรินาค, สงกรานต์, โควิด-19