น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 64 ไว้ที่เติบโต 3-4%
โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่
- สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มากขึ้น ส่งผลบวกต่อทิศทางทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชนสหรัฐ และความต้องการสิจค้าจากทั่วโลกรวมถึงไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโควิด และ work from home
- ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
- เงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าในรอบ 4 เดือน จากอานิสงค์การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยิลด์) ซึ่งมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 64 คือ
- ปัญหา International Logistics โดยจากกรณีล่าสุดเรือ Ever Given บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์กว่า 20,000 TEUs ประสบอุบัติเหตุในคลองสุเอซ ประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งจากเอเซียไปยุโรป ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเรือบรรทุกสินค้า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หลายร้อยลำไม่สามารถผ่านเส้นทางนี้ได้ และส่งผลทำให้การส่งมอบสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด ขณะที่ยังมีปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และอัตราค่าระวางที่ทรงตัวในระดับสูง
- การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อคดาวน์ในบางพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจกลับมาชะลอได้อีกครั้ง
- ปัญหาชิปขาดแคลน ก่อนหน้านี้หลายโรงงานผลิตชิปต้องปิดตัวหรือลดกำลังการผลิตลงชั่วคราว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 63 ที่ผ่านมา ประกอบกับโรงงานผลิตชิปที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกสัญชาติญี่ปุ่นเกิดเหตุเพลิงไหม้เครื่องสำหรับผลิตชิป ทำให้กำลังการผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดโลกหายไปพอสมควร
- การขาดแคลนแรงงานกลุ่ม Unskilled labor เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าออกของแรงงาน ทั้งนี้ ปัญหาอาจมีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องด้วยกิจกรรมการผลิตและการส่งออกเริ่มฟื้นตัวจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า
น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า สรท.ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้
- เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกที่ชัดเจนเนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งที่สูงมากขึ้น
- เร่งรัดการแก้ไขปัญหาความแออัดและการจราจรติดขัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากทำให้ผู้ประกอบการส่งออกมีต้นทุน และระยะเวลาในการปฏิบัติงานขนส่งเพิ่มขึ้น และทำให้การนำเข้าวัตถุดิบสู่กระบวนการผลิตมีความล่าช้า
- ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้มาตรการหรือเครื่องมือทางการเงินเพื่อกำหนดทิศทาง รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไว้ที่ 32 บาท/เหรียญสหรัฐฯ
- เร่งดำเนินการความตกลงเขตการค้าเสรีที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคือสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
- เนื่องจากแรงงานในระดับ Unskilled labor ขาดแคลนอยางหนัก โดยเฉพาะในภาคการผลิต ขอรัฐบาลพิจารณาแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมโดยเร็ว แต่อาจต้องมีมาตรการรับมือการแพร่ระบาดโควิดที่เข้มงวด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 64)
Tags: กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์, ส่งออกไทย, สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย, สรท., เศรษฐกิจไทย, โลจิสติกส์