สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “การกระตุ้นเศรษฐกิจ (การท่องเที่ยว) ในยุคโควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,265 คน สำรวจวันที่ 29 มี.ค. – 1 เม.ย. 2564 พบว่า ก่อนมีโควิด-19 ประชาชนท่องเที่ยวประมาณ 2-3 เดือนครั้ง เมื่อมีโควิด-19 ไม่เที่ยวเลย แต่เมื่อมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ประชาชนท่องเที่ยว 2-3 เดือนครั้ง
กรณีที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐก็ยังคงใช้จ่ายเท่าเดิม ร้อยละ 43.87 โดยมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่พึงพอใจมากที่สุด คือ การเพิ่มวันหยุดพิเศษ ร้อยละ 80.47 ปัจจัยที่ทำให้อยากไปท่องเที่ยว คือ ครอบครัว/เพื่อนและตนเองอยากไป ร้อยละ 63.40 รองลงมาคือ มีวันหยุดยาว ร้อยละ 48.93 และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง ร้อยละ 47.89 ภาพรวมเห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ร้อยละ 75.18
ผศ.ดร.อังค์ริสา แสงจำนงค์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการงานบริการ (หลักสูตรนานาชาติ) โรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่กินระยะเวลามากว่า 1 ปี คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้ว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักให้กับประเทศไทยโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และที่มาของรายได้หลักของคนไทยส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว โดยเมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวดิ่งไปถึงจุดที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเลยตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ก็ทำให้ประชาชนคนไทยมากกว่าร้อยละ 70 ได้รับผลกระทบในทันที และยิ่งกินระยะเวลายาวนานยิ่งทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
การกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของภาครัฐจึงเป็นแนวทางที่ดีที่นอกจากจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดให้คนไทยได้บ้างแล้ว ยังจะเป็นการเสริมสภาพคล่องเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาได้ทั้งระบบก็ตามแต่อย่างน้อยก็ทำให้คนไทยมีรอยยิ้มขึ้นได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม คนไทยยังคงเฝ้ารอการเร่งคืนสภาพเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในภาพรวมให้ได้โดยเร็ว โดยภาครัฐจะต้องใช้มาตรการเชิงรุกเร่งผลักดันประเทศไทยสู่ประเทศปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีใหม่เพื่อเป็นการต่อลมหายใจให้คนไทยทั้งประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 64)
Tags: ท่องเที่ยว, ผลสำรวจ, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, สวนดุสิตโพล, อังค์ริสา แสงจำนงค์, เศรษฐกิจไทย