แม้ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ แต่ด้วยผลประกอบการรอบปี 63 ของ บมจ.เอ็น.ดี.รับเบอร์ (NDR) สามารถกลับมาพลิกมีกำไรสุทธิ 45.26 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 19.54 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมธุรกิจปี 64 ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและกำลังจะมาพร้อมการรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อหวังต่อยอดสร้างการเติบโตรอบใหม่ (New S-curve) ให้กับบริษัทในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
เพิ่มทุน PP สานธุรกิจใหม่มุ่งสู่ “New S-curve”
นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ NDR เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า แม้ว่าในปัจจุบันบริษัทจะดำเนินธุรกิจผู้ผลิตยางรถจักรยานยนต์แบรนด์ ND Rubber และผู้รับจ้างผลิต (OEM) ให้รถจักรยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่เป็นแบรนด์ชั้นนำ แบ่งเป็นสัดส่วนยอดขายในประเทศ 50% และส่งออกต่างประเทศ 50% ประกอบด้วยตลาดหลักคือประเทศมาเลเซีย ,เมียนมา ,สปป.ลาว ,กัมพูชา ส่วนฟิลิปินส์และเวียดนาม อยู่ระหว่างดำเนินการขยายฐานลูกค้า
แต่ด้วยภาพรวมของอุตสาหกรรมยางรถจักรยานยนต์ไม่ได้มีอัตราการเติบโตที่หวือหวานักในแต่ละปี เป็นที่มาของการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่เพื่อให้เข้ามาช่วยเร่งสร้างการเติบโตรอบใหม่ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่นอกเหนือจากธุรกิจหลักในอุตสาหกรรมยางรถจักรยานยนต์ ต่อยอดจากธุรกิจเดิม และอยู่ในเมกะเทรนด์ของโลก เพื่อมุ่งสู่ New S-curve
และหนึ่งในแนวทางการขยายธุรกิจปีนี้คือเครื่องมือทางการเงินด้วยวิธีการเพิ่มทุนจำนวน 31.5 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นสัดส่วน 10% ของทุนจดทะเบียนเพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งจะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุน PP ครั้งนี้เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 30 มี.ค.อนุมัติเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการบริษัทสามารถอนุมัติเดินหน้าธุรกิจใหม่ได้ทันทีหากโอกาสเข้ามาถึงในวันข้างหน้า บริษัทคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักลงทุนและผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้ต้องวิตกกังวลเรื่องผลกระทบ Dilution Effect มากนักเพราะหากมีธุรกิจใหม่เข้ามาเชื่อว่าจะสามารถชดเชยผลกระทบดังกล่าวได้แน่นอน
“ยกตัวอย่างเมื่อ 2 ปีที่แล้วการเข้าซื้อกิจการมาเลเซียด้วยการโอนแลกหุ้น (Share Swap) ทำให้บริษัทมีแบรนด์ชั้นนำที่เป็นหนึ่งในผู้เล่นตลาดใหญ่ในอาเซียน และมีข้อดีคือใช้วงเงินเงินลงทุนที่เหมาะสมไม่สูงจนเกินไป แม้ว่าหลายคนจะมองว่าเกิดผลกระทบเรื่อง Dilution Effect แต่บริษัทก็พิสูจน์แล้วว่าฐานขององค์กรมีความแข็งแกร่งขึ้น
วันนี้เรามองเห็นโอกาสสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ๆที่จะมาช่วยเสริมความแข็งแกร่งบริษัทในระยะยาว และหนึ่งในข้อได้เปรียบบริษัทคือเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีเครื่องมือทางการเงินหลายรูปแบบที่ใช้ขยายธุรกิจ ดังนั้นการเพิ่มทุน PP ครั้งนี้จะอยู่ในแผนการหาพันธมิตรเพื่อก้าวสู่การขยายธุรกิจใหม่ เพราะหากบริษัทยังอยู่ในอุตสาหกรรมยางรถจักรยานยนต์การเติบโตแต่ละปีจะไม่หวือหวา และไม่มี Growth Story ดังนั้นในฐานะผู้บริหารจำเป็นต้องหาธุรกิจที่จะทำให้ผลประกอบการสามารถเติบโตก้าวกระโดดครั้งใหม่”นายชัยสิทธิ์ กล่าว
ปี 64 วางเป้าโตมากกว่า 10-15 รับดีมานด์ยางรถจักรยานยนต์พุ่ง
นายชัยสิทธิ์ กล่าวอีกว่า แม้ภาพรวมธุรกิจปี 64 อาจจะมีความแตกต่างจากปี63 เพราะราคาต้นทุนวัตถุดิบยางจะไม่ต่ำเหมือนกับปีที่แล้ว ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบในปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ตัวแปรที่เป็นบวกคือภาพของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวและการเปิดประเทศหลังจากเริ่มใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ส่งผลดีต่อการเติบโตด้านรายได้ ซึ่งบริษัทคาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10-15% เมื่อเทียบกับปี 63 หรือกลับไปใกล้เคียงกับปี 62 ที่มีรายได้ 861.87 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 จากตามความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศพลิกกลับมาฟื้นตัวอย่างโดดเด่น เป็นตัวแปรช่วยชดเชยให้บริษัทยังสามารถประคองอัตรากำไรให้ใกล้เคียงหรืออาจสูงกว่าปีก่อน
“วันนี้มองเห็นสัญญาณความต้องการยางรถจักรยานยนต์ในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความนิยมการส่งอาหารและสินค้าถึงประตูบ้านแบบ Delivery เติบโตอย่างชัดเจน สะท้อนว่ามีการใช้รถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดขายในต่างประเทศก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างโดดเด่นเช่นกัน ทำให้ภาพของโครงสร้างรายได้ในปีนี้คาดว่าจะมีสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55-60% และในประเทศจะอยู่ที่ 40-45% และหากสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลายก็เตรียมเข้าไปขยายตลาดในประเทศอินโดนีเซียเป็นลักษณะการร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นคู่ค้าคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ใหม่อย่างน้อย 10 ล้านบาทต่อเดือน
เป้าใหม่ 2-3 ปีรายได้สู่ 1.5-2 พันล้านบาท ปูทางย้าย mai เข้าเทรดกระดาน “SET”
นายชัยสิทธิ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันคณะกรรมการมีการหารือภายในถึงโอกาสย้ายหุ้นบริษัทที่ปัจจุบันซื้อขายในกระดาน เอ็ม เอ ไอ เพื่อย้ายเข้ามาซื้อขายในกระดานใหญ่ตลาดหลักทรัพย์ (SET) แต่ยังไม่สามารถจะระบุได้ชัดเจนว่าจะดำเนินการได้เมื่อใด แต่ก็มองเห็นถึงโอกาสหากบริษัทสามารถขยายธุรกิจใหม่ได้ตามแผน บริษัทมีเป้าหมายว่าภาพรวมรายได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้ามีโอกาสเติบโตไปแตะ 1.5-2 พันล้านบาท และถึงเวลานั้นหากบริษัทนำหุ้นย้ายเข้าไปซื้อขายในกระดาน SET น่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าบริษัทและเพิ่มความน่าสนใจในสายตาของผู้ลงทุนสถาบันในอนาคตอีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 เม.ย. 64)
Tags: NDR, New S-curve, SET, ชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา, ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ, ตลาดหุ้นไทย, หุ้นไทย, เอ็น.ดี.รับเบอร์