สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รับเรื่องร้องเรียนของสมาคมนักกฎหมายสิทธิและสิ่งแวดล้อมที่ขอให้ตรวจสอบกรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติ 4:3 อนุญาตให้บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ควบรวมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่อย่างไม่เป็นธรรม ไว้พิจารณาแล้ว
เจ้าหน้าที่สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานฯ อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ส่งคำชี้แจงมาภายใน 30 วัน
“ขณะนี้อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริง โดยส่งหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ชี้แจงกลับมาภายใน 30 วัน แต่สามารถขยายเวลาได้อีก 30 วันหากดำเนินการไม่ทัน รวมแล้วก็จะไม่เกิน 60 วัน”
เจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว
ทั้งนี้ สำนักสอบสวน 1 ที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวจะรวบรวมข้อมูล คำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และข้อกฎหมาย เสนอต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาต่อไป
ขณะที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภคทั่วประเทศ เป็นโจทก์ฟ้อง กขค. และ สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เมื่อวันที่ 15 มี.ค.64 ต่อศาลปกครองในกรณีเดียวกัน เพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติของ กขค.ที่อนุญาตให้มีการรวมธุรกิจในตลาดค้าส่ง ค้าปลีกระหว่าง ซีพีฯ กับ เทสโก้ฯ หรือ ให้ศาลกำหนดเงือนไขเชิงโครงสร้างเพื่อป้องกันการผูกขาดตลาดสินค้าอุปโภค บริโภค ตลาดค้าปลีก
สำหรับประเด็นตามคำฟ้องระบุว่า การรวมธุรกิจของ ซี.พี.รีเทลฯ และ เทสโก้ สโตร์ส ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กล่าวคือไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป ทั้ง ๆ ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ในห่วงโซ่อุปทานตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นการทั่วไป ซึ่งกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
และ การกำหนดกรอบในการลงมติของ กขค.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยทั่วไปจะต้องมีมติก่อนว่าเห็นควรให้มีการควบรวมธุรกิจหรือไม่ หากมีมติให้รวมได้ กขค.ก็จะต้องร่วมพิจารณาเงื่อนไขทางโครงสร้างและเงื่อนไขเชิงพฤติกรรม เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใดมีอำนาจเหนือตลาด
นอกจากนั้น ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อคณะอนุกรรมการที่พิจารณาคำขออนุญาตว่ามีใครเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้ขออนุญาตหรือไม่ และการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสมกับข้อเท็จจริง ไม่รอบคอบ และ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เป็นการกินรวบ และ ไม่มีความจำเป็นทางธุรกิจ หรือ เป็นการส่งเสริมการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 64)
Tags: ควบรวมกิจการ, ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์, ซีพี, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, เทสโก้, เทสโก้ สโตร์ส