น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ซึ่ง BIMSTEC ประกอบด้วยสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาณ อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย
โดยจะมีการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลในวันที่ 1 เมษายน 2564 มีประเทศศรีลังกาเป็นเจ้าภาพและประธาน และประเทศไทย จะรับหน้าที่เป็นประธานต่อจากนั้น
สำหรับสาระของแถลงการณ์ร่วม ประกอบด้วย การพิจารณาร่างกฎบัตรบิมสเทค เพื่อเสนอให้ที่ประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 5 ในประเด็น
- ยกระดับให้บิมสเทคเป็นองค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล (Inter-government organization) โดยกำหนดวัตถุประสงค์ หลักการ กลไกการดำเนินงาน สิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิก การบริหารจัดการงบประมาณ และเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- จัดหมวดหมู่สาขาความร่วมมือ 7 เสา โดยให้ประเทศสมาชิกเป็นผู้นำในแต่ละเสา ดังนี้
- 1) เสาการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (เมียนมา)
- 2) เสาความเชื่อมโยง (ไทย)
- 3) เสาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (ภูฏาน)
- 4) เสาการค้า การลงทุน และการพัฒนา (บังกลาเทศ)
- 5) เสาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (ศรีลังกา)
- 6) เสาความมั่นคง (อินเดีย)
- 7) เสาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน (เนปาล)
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า ในการประชุมจะมีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยเน้นในเรื่องการผลักดันร่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม ที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันภายในภูมิภาค
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 64)
Tags: BIMSTEC, ครม., ประชุม, ประชุมครม., รัชดา ธนาดิเรก, อ่าวเบงกอล