นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา และที่ลงทุนในเมียนมา เพื่อหารือถึงผลกระทบและมาตรการช่วยเหลือว่า ธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา และได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เพราะขาดแคลนแรงงาน และต้องปิดโรงงานชั่วคราว จากการที่คนงานนัดหยุดงานเพื่อไปประท้วง และทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างเมืองใหญ่หยุดชะงัก
นอกจากนี้ ยังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก เพราะสถาบันการเงินปิดชั่วคราวจากการหยุดงานประท้วง ทำให้ถอนเงินออกมาไม่ได้ รวมถึงจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเมียนมาถดถอยด้วย เพราะมีการคาดการณ์จากหลายหน่วยงานของต่างประเทศ และหน่วยงานของไทยว่าผลจากการประท้วงจะทำให้เศรษฐกิจเมียนมาถดถอยเป็นตัวเลขถึง 2 หลัก
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภาคเอกชนมีข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ ได้แก่ ขอให้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา เพราะการเข้าไปลงทุน แม้จะไปทำธุรกิจในเมียนมา แต่มีรายได้ที่ไทย ก็ต้องยื่นแบบเสียภาษีด้วย ขอให้พิจารณาประสานสถาบันการเงินปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในเมียนมาและได้รับผลกระทบ และขอให้ช่วยประสานฉีดวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่แม่สอดโดยเร็วและเพียงพอ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการค้าขาย โดยข้อเสนอทั้งหมดนี้ จะเสนอต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ พิจารณาในเร็วๆ นี้
ในด้านการค้าชายแดน โดยเฉพาะที่ด่านแม่สอด-เมียวดี ยังมีการส่งออก-นำเข้า ค้าขายได้ตามปกติ และมีรถบรรทุกสินค้าวิ่งข้ามไปมาวันละ 700-800 คัน ในบางช่วงมากถึงวันละ 900 คัน ซึ่งต้องติดตามดูต่อไปว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยหรือไม่
อย่างไรก็ดี พบว่าในเดือนก.พ.64 มูลค่าการส่งออกไทยไปเมียนมาลดลงมากถึง 29% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.63 แต่ยังสรุปไม่ได้ว่า เป็นเพราะผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมา หรือสาเหตุอื่น เช่น ผลกระทบในเชิงจิตวิทยา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มี.ค. 64)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, ธุรกิจ, บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร, ผู้ประกอบการ, รัฐบาล, เมียนมา, เศรษฐกิจไทย