นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รับรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 1 รายหลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และอีก 2 รายมีผลข้างเคียง โดยอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล แต่เบื้องต้นเชื่อว่ารายที่เสียชีวิตไม่ได้มีสาเหตุมาจากตัววัคซีน แต่น่าจะมาจากโรคประจำตัว คือเส้นเลือดในท้องโป่งพองแตกและเสียชีวิต โดยจะนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสอบสวนต่อไป
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตมีโรคหลอดเลือดโป่งพองที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ถือเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง เพราะหากเกิดอาการหลอดเลือดแตกในจุดหนึ่งจุดใดของร่างกายก็จะมีเลือดออกในปริมาณมาก ที่ผ่านมามีประวัติได้รับการผ่าตัดรักษามาแล้ว แต่เกิดอาการกำเริบจนเสียชีวิตหลังจากได้รับวัคซีนแล้วราว 10 วัน
“กรณีนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางศัลยกรรมเหมือนมีระเบิดเวลาอยู่ข้างในตัว ไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เป็น co-incident ที่จังหวะบังเอิญเกิดหลังได้รับวัคซีน”
นพ.โสภณ กล่าว
ส่วนรายที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรง 2 รายนั้น รายแรกแพ้วัคซีนในลักษณะลมพิษ ส่วนอีก 1 รายเป็นไข้ ถือเป็นผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ได้รับวัคซีน แต่สามารถรักษาให้หายได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ประชุมเสร็จแล้วจะมีการแถลงข่าวอีกครั้ง
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงถึงกรณีผลข้างเคียงที่ได้รับวัคซีนโควิด พบทั้งกรณีเส้นเลือดในท้องโป่งพองแตกและเสียชีวิต, กรณีเป็นไข้ และเป็นลมพิษ โดยผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมีโอกาสเกิดขึ้นได้
กรณีของผู้เสียชีวิต มาจากเส้นเลือดแดงใหญ่ในท้องโป่งพองและแตก ซึ่งเป็นความผิดปกติของเส้นเลือดที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เมื่อมีอายุมากขึ้นจึงเกิดอาการโป่งพอง เหมือนเป็นระเบิดเวลาในร่างกายที่จะเกิดเส้นเลือดแตกเมื่อใดก็ได้ หากตรวจสุขภาพแล้วพบก่อนก็สามารถป้องกันไม่ให้โป่งพองจนแตกได้ แต่บังเอิญผู้ป่วยไม่ทราบ ทำให้เส้นเลือดระเบิดออกหลังฉีดวัคซีน ไม่ใช่ฉีดวัคซีนแล้วทำให้เส้นเลือดโป่งพอง จึงเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน เป็นอาการหรือเหตุการณ์ที่เกิดร่วมกับการฉีดวัคซีน
“วัคซีนมีการฉีดแล้ว 500 ล้านโดส การฉีดใน 500 ล้านคนต้องเจอผู้เสียชีวิตเพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย”
ศ.นพ.ยง กล่าว
ส่วนกรณีฉีดวัคซีนแล้วเป็นไข้นั้น ศ.นพ.ยง กล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะจากการศึกษาพบว่าผู้ได้รับวัคซีนจะมีอาการไข้ 7-10% บางรายอาจจะมีไข้สูงถึง 39 องศา แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงวันเดียว แต่ก็มีโอกาสที่จะมีอาการหนักถึงขั้นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งจะต้องประเมินว่าวัคซีนโควิดเป็นสาเหตุให้เป็นไข้หรือไม่ หรือเป็นไข้จากเชื้อประเภทใด เช่น กรณีตรวจพบว่าเป็นไข้เลือดออก คงไม่ได้มีสาเหตุมาจากวัคซีนโควิด แต่มาเป็นในจังหวะร่วมด้วย
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียดที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ป่วยเข้าโรงพยาบาลหลังจากฉีดวัคซีนโควิด แพทย์เจ้าของไข้จะต้องเป็นผู้ลงความเห็น รวมทั้งคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบและลงความเห็นของคณะกรรมการด้านการแพทย์ว่าอาการที่ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเหตุการณ์ที่เกิดร่วมด้วย หรืออาการข้างเคียงของวัคซีน
สำหรับผู้ที่เป็นผื่นลมพิษหลังฉีดวัคซีนนั้น หากเกิดขึ้นภายใน 30-50 นาที หรือภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังจากฉีดวัคซีน ก็สามารถสันนิษฐานว่าแพ้วัคซีน แต่หากคนนั้นเคยมีอาการลมพิษบ่อยแล้วก็ต้องมาพิจารณาว่ามีอาการแพ้อย่างอื่นหรือไม่ หากเกิดจากการแพ้วัคซีนก็ต้องประเมินว่ารุนแรงแค่ไหน ถ้าไม่รุนแรงก็สามารถฉีดให้ครบโดสได้ แต่หากรุนแรง เช่น มีอาการบวมในหลอดลม ก็คงต้องหยุดฉีด
“อย่างกรณีวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาในสหรัฐฯ ยังมีการแพ้รุนแรงภายใน 30 นาที โดยของไฟเซอร์ โอกาสเกิด 5 ในล้านโดส โมเดอร์นา 2.5 ในล้านโดส เหมือนกับวัคซีนตัวอื่น และถ้าเรากินยา ยังมีโอกาสแพ้ได้”
ศ.นพ.ยง กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มี.ค. 64)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, วัคซีนต้านโควิด-19, โควิด-19, โสภณ เอี่ยมศิริถาวร