นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับรายงานจากเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าที่ประชุมคณะกรรมการ อย.อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท จอห์นสันแอนจอห์นสัน แล้ว คาดว่าจะสามารถนำเข้ามาขายในประเทศไทยได้ในช่วงไตรมาส 4/64 ราคาโดสละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามราคาที่ควบคุมขององค์การอนามัยโลก
วัคซีนของจอห์นสันฯ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชนคนไทย และเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นวัคซีนยี่ห้ออื่น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จัดสรรงบประมาณไปจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว เนื่องจากมีฐานการผลิตวัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท สยามไบโอไซด์ ปีละ 200 ล้านโดสอยู่แล้ว ซึ่งมีการพัฒนาที่รวดเร็วเกินคาดกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าจะขาดแคลน
“ต่อให้มีสถานการณ์ใดเกิดขึ้น วัคซีนในประเทศไทยจะเข้าถึงประชาชนแน่นอน และหากได้ผลที่ดีก็จะพิจารณาเปิดประเทศเร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับบางสถานทูตในการจับคู่ประเทศ หรือยอมรับใบรับรองการฉีดวัคซีน”
นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า หากการกระจายวัคซีนเป็นตามแผน ในอีก 2 เดือนหน้าจะสามารถประเมินได้ว่าหลังฉีดให้ประชาชนแล้วมีภูมิคุ้มกันเป็นที่น่าพอใจเพียงอที่ผ่อนคลายมาตรการให้มากขึ้นหรือไม่ ซึ่งหลักการสำคัญคือความปลอดภัยของประชาชน หากประชาชนปลอดภัยก็พร้อมเปิดประเทศแน่นอน
“จะเปิดประเทศเดือนใดนั้นขึ้นอยู่กับการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ให้นโยบายกับกรมควบคุมโรค และคณะกรรมการองค์การอาหารและยา (อย.) ว่า การรับรองวัคซีนต้องอิงกับการรับรองขององค์การอนามัยโลก หรือเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดย อย.ของไทย”
นายอนุทิน กล่าว
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า ล่าสุดวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่มายื่นขอขึ้นทะเบียนได้รับอนุมัติทะเบียนจาก อย. แล้วเป็นรายที่ 3 ต่อจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับอนุมัติทะเบียนไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 และวัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวก นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งได้รับอนุมัติทะเบียนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564
นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนของบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี ประเทศอินเดีย นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารแบบต่อเนื่อง หรือ rolling submission และสำหรับวัคซีนอื่น ๆ ได้แก่ วัคซีนโมเดอร์นา ของประเทศสหรัฐอเมริกา วัคซีนสปุตนิก ไฟว์ ของประเทศรัสเซีย และวัคซีน ซิโนฟาร์ม ของประเทศจีน ได้มีการเข้าหารือกับ อย. เพื่อเตรียมการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 แล้ว
สำหรับผู้รับอนุญาตนำเข้ายา หรือผู้รับอนุญาตที่เป็นโรงพยาบาลเอกชน หรือ ภาคเอกชนอื่น ที่สนใจยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นเอกสารเพื่อขอประเมินคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของวัคซีน อย. พร้อมอำนวยความสะดวก โดยได้ระดมผู้เชี่ยวชาญจากภายในและภายนอก อย. มาร่วมพิจารณา ถ้ายื่นเอกสารครบถ้วนตามที่กำหนดจะใช้เวลาในการประเมินและพิจารณาอนุญาตประมาณ 30 วัน โดย อย. คำนึงถึงคุณภาพความปลอดภัยของวัคซีนตามมาตรฐานสากลเป็นสำคัญ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างปลอดภัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 64)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, อนุทิน ชาญวีรกูล, อย., โควิด-19, ไพศาล ดั่นคุ้ม